คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 102 ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1.5 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน กรณีต้องถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 71 มิให้นำมาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จึงถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 5, 9, 72, 73, 102, 122, 123
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 9, 72, 73, 102, 122, 123 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับกระทงละ 400,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 800,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ปรับกระทงละ 400,000 บาท 1 กระทง และปรับกระทงละ 800,000 บาท 1 กระทง ฐานให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ปรับกระทงละ 400,000 บาท รวม 2 กระทง ปรับ 800,000 บาท รวมปรับ 2,800,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 1,400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน และฐานให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฎีกา ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 และข้อ 1.5 ตรงกับความผิดตามมาตรา 9, 102 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่าวด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จึงเป็นกรณีที่การกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว แต่ไม่มีโทษ ต้องถือว่าพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะตามคำฟ้องของโจทก์มีการกระทำของจำเลยอีกช่วงหนึ่งคือระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งมาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1.3 และ ข้อ 1.5 จึงเป็นความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน เห็นว่า ความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 102 ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1.5 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน กรณีต้องถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มีพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 71 มิให้นำมาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จึงถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่การกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามพระราชกำหนดดังกล่าว แต่ไม่มีโทษ ต้องถือว่าพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share