แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยจะมีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีและบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 5 มิใช่พิจารณาจากข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพิจารณาจากข้อความที่ระบุในเอกสารเท่านั้น การที่โจทก์รับจ้างทำการงานให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยเป็นที่รับรู้ของคนในประเทศไทยว่าจำเลยมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โจทก์ทำงานดังกล่าวโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยไม่มีเวลาทำงานปกติ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ ของจำเลย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่คู่สัญญาในเรื่องจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนที่ประเทศนอร์เวย์ ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจก่อสร้างท่าเรือ ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีนายสัญญาสุวรรณวงศ์ เป็นผู้มีอำนาจและรับผิดชอบดำเนินการในประเทศไทย โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อเดือนมกราคม 2539 ตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดได้ค่าจ้างเดือนละ95,000 บาท ค่าน้ำมันในการปฏิบัติงานเป็นประจำในแต่ละเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า4,000 บาท วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่ทราบสาเหตุ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน 594,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 495,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน198,000 บาท โจทก์ขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 7,128,000 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแต่ละจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 8,415,000 บาท จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามที่ฟ้องมา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า การที่ลูกจ้างกับนายจ้างมิได้ตกลงกำหนดวันเวลาให้ลูกจ้างทำงานหรือนายจ้างยินยอมให้ลูกจ้างไปทำงานให้ผู้อื่นได้ในเวลาที่ลูกจ้างยังทำงานอยู่กับนายจ้างนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เรื่องเหล่านี้หาใช่เป็นข้อแสดงว่าลูกจ้างไม่เป็นลูกจ้างของนายจ้างตามกฎหมาย เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์โดยระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียม จำเลยเป็นผู้ทำขึ้นและอยู่ที่ความเข้าใจของผู้ทำ ไม่อาจฟังได้ว่าเงินที่จ่ายมิใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยจะมีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีและบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มิใช่พิจารณาจากข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพิจารณาจากข้อความที่ระบุในเอกสารเท่านั้น คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อปี 2539 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด มีหน้าที่ทำให้จำเลยเป็นที่รับรู้ของคนในประเทศไทยว่าจำเลยมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อที่จะได้มีผู้มาจ้างจำเลยก่อสร้างท่าเทียบเรือต่อไป ระยะเวลาการทำงานของโจทก์ไม่มีการกำหนดจำนวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ ไม่ได้กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน โจทก์มีอิสระที่จะทำงาน เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายร้อยละ 3 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 ใบสำคัญจ่ายเอกสารหมาย ล.3 ระบุว่า ประเภทเงินได้ที่จ่ายคือค่าบริการ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์รับจ้างทำการงานให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยเป็นที่รับรู้ของคนในประเทศไทยว่าจำเลยมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โจทก์ทำการงานดังกล่าวโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่มีเวลาทำงานปกติและไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ ของจำเลย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่คู่สัญญาในเรื่องจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามฟ้องอันเป็นเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้างอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน