แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1119และ1120เมื่อได้ชำระเงินค่าหุ้นงวดแรกแล้วเงินค่าหุ้นยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใดกรรมการมีอำนาจเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งชำระให้ครบถ้วนทีเดียวหรือจะแบ่งออกเป็นงวดให้ส่งเมื่อใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังดำรงอยู่เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยให้ทำอย่างอื่นเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอีกหุ้นละ75บาทจำนวน4,500หุ้นดังนั้นกรรมการของโจทก์จึงมีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างส่งเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ดุลพินิจของกรรมการและปรากฏว่าโจทก์ได้เรียกเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่นด้วยแม้จำเลยได้ฟ้องกรรมการผู้จัดการของโจทก์ขอแบ่งเงินค่าตอบแทนจากโจทก์คดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์จึงได้ฟ้องเรียกค่าหุ้นจากจำเลยเป็นคดีนี้ก็จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งฟ้องจำเลยไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย ประเด็นตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเกี่ยวกับคำบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นการริบหุ้นการขายทอดตลาดหุ้นและความรับผิดของจำเลยนั้นในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระซึ่งโจทก์ได้แจ้งจำเลยล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า21วันหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและข้อแถลงถึงการริบหุ้นกับหนังสือบอกกล่าวถึงการริบหุ้นของจำเลยซึ่งโจทก์ได้ส่งให้จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามเอกสารหมายจ.1จ.2จ.3จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทั้ง3ฉบับแล้วจำเลยเพิกเฉยตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าถือได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1121,1123,1124แล้วโจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา1125 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1125บัญญัติแต่เพียงว่าหุ้นซึ่งริบแล้วให้เอาออกขายทอดตลาดโดยไม่ชักช้าเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้โฆษณาบอกกล่าวขายทอดตลาดแล้วและโจทก์เป็นผู้ขายทอดตลาดหุ้นแม้ผู้เข้าสู้ราคาจะเป็นเครือญาติของกรรมการผู้จัดการของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา512ที่ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเองและไม่ปรากฏว่าโจทก์ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริตอย่างไรจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยโดยชอบแล้วและเมื่อขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาจากจำเลยผู้ถือหุ้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ โดยเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 4,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ได้ชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 25 บาท เมื่อเดือนเมษายน2530 จำเลยได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ต่อมาเดือนมิถุนายน 2530 กรรมการของโจทก์ได้มีมติให้เรียกเงินค่าหุ้นเพิ่มอีกหุ้นละ 75 บาท จากผู้ถือหุ้น โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ถึงจำเลยให้ส่งเงินค่าหุ้นเพิ่มอีกหุ้นละ 75 บาท จำนวน 4,500 หุ้นเป็นเงิน 337,500 บาท โดยกำหนดให้นำเงินมาชำระ ณ ที่ทำการของโจทก์ภายใน 25 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเงินค่าหุ้นไปถึงจำเลยอีกครั้งหนึ่งพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และแจ้งไปด้วยว่าหากจำเลยไม่ใช้เงินตามเรียกโจทก์จะริบหุ้นของจำเลยออกขายทอดตลาดต่อไป จำเลยทราบแล้วเพิกเฉย โจทก์ได้ดำเนินการริบหุ้นและนำหุ้นที่ขายทอดตลาดได้ราคาหุ้นละ 6 บาท ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าหุ้นที่ขายเพียง 27,000 บาท เงินค่าหุ้นขาดไป 310,500 บาทเมื่อรวมดอกเบี้ยค้างชำระทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 314,891.50 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 314,891.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 310,500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าหุ้นจากจำเลยโดยไม่สุจริต เพราะนางดวงพร ตรีเพ็ชร ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 3,000 หุ้น ของโจทก์ถูกจำเลยฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งผลประโยชน์ของโจทก์จำนวน 514,309.37 บาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 25134/2530 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ โจทก์จึงแกล้งฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระจากจำเลยโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งไม่มีการประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น ประกอบกับโจทก์มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินไม่ประสบภาวะการขาดทุนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์มิได้บอกกล่าวเรียกให้ผู้ถือหุ้นทุกคนนอกจากจำเลยให้ส่งใช้เงินค่าหุ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นอีก 5 คน ก็ชำระเงินค่าหุ้นเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้เรียกให้ชำระเงินค่าหุ้นและดำเนินคดี โจทก์กลับแกล้งฟ้องเรียกเงินค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 จากจำเลยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์มิได้มีเจตนาที่จะนำเงินค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 ที่เรียกจากจำเลยไปเพื่อดำเนินกิจการของโจทก์แต่อย่างใด การกระทำของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระเงินค่าหุ้น โจทก์ริบหุ้นของจำเลยโดยไม่สุจริต โจทก์สมคบกับบุคคลอื่นขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสถานที่และเวลาขายทอดตลาดด้วย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระค่าเสียหายจำนวนตามฟ้องจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 314,891.50บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน310,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์จำนวน 4,500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาทจำเลยได้ส่งใช้เงินค่าหุ้นคราวแรกเป็นเงินหุ้นละ 25 บาท แล้วและจำเลยมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2530 นางสาวศิริพร ยงพานิชกุลกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ และจำเลยได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตามเอกสารหมาย ล.4ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้ลงมติอนุมัติให้จำเลยลาออกได้และตั้งกรรมการขึ้นใหม่แทนจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 โดยได้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมแล้วตามเอกสารหมาย ล.1
ประเด็นข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเงินค่าหุ้นที่จำเลยยังค้างชำระ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 บัญญัติว่า หุ้นทุก ๆ หุ้น จำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า ฯลฯ มาตรา 1120 บัญญัติว่า บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่าเมื่อได้ชำระเงินค่าหุ้นงวดแรกแล้วเงินค่าหุ้นยังค้างชำระอยู่อีกเท่าใด กรรมการมีอำนาจเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งชำระให้ครบถ้วนทีเดียว หรือจะแบ่งออกเป็นงวดให้ส่งเมื่อใดก็ได้ตราบเท่าที่บริษัทยังดำรงอยู่ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยให้ทำอย่างอื่น ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอีกหุ้นละ 75 บาท จำนวน 4,500 บาท ดังนั้น กรรมการของโจทก์จึงมีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นที่ยังค้างส่งเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ดุลพินิจของกรรมการ โจทก์มีรายงานการประชุมใหญ่ของกรรมการตามเอกสารหมาย จ.11 มาแสดงว่าที่ประชุมกรรมการของโจทก์มีมติให้เรียกเงินค่าหุ้นที่ยังค้างส่งหุ้นละ 75 บาทจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นกรรมการของโจทก์จึงมีอำนาจเรียกให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างส่ง โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น และปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินสดกับสำเนาบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์เอกสารหมาย ล.9 ล.6 ว่า มีรายการลงรับเงินค่าหุ้นจำนวน 375,000 บาท ในบัญชีเงินสด และมีรายการฝากเงินจำนวน 375,000 บาท ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2530 ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวเท่ากับจำนวนเงินค่าหุ้น 5,000 หุ้น ที่ผู้ถือหุ้นคนอื่นยังค้างส่งนอกจากจำเลยและนางสาวศิริพร จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้เรียกเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่นด้วย แม้จำเลยได้ฟ้องกรรมการผู้จัดการของโจทก์ขอแบ่งเงินค่าตอบแทนจากโจทก์คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ก็จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งฟ้องจำเลยไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย
ส่วนประเด็นข้อสอง ข้อสาม ข้อสี่ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเกี่ยวกับคำบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้น การริบหุ้นการขายทอดตลาดหุ้น และความรับผิดของจำเลย นั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ซึ่งโจทก์ได้แจ้งจำเลยล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 21 วัน หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและข้อแถลงถึงการริบหุ้น กับหนังสือบอกกล่าวถึงการริบหุ้นของจำเลย ซึ่งโจทก์ได้ส่งให้จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.3 จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทั้ง 3 ฉบับ แล้วจำเลยเพิกเฉยตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121, 1123, 1124 แล้วโจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 1125ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยโดยชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ทราบกำหนดวันเวลาขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยที่บริษัทโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยฎีกาว่าคำประกาศขายทอดตลาดตามเอกสารหมาย จ.8 ไม่ชัดแจ้งว่าประกาศในหนังสือพิมพ์อะไร และโจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินค่าประกาศมาแสดงไม่น่าเชื่อว่าได้ประกาศขายทอดตลาดหุ้นจริง และผู้เข้าสู้ราคาล้วนเป็นเครือญาติของกรรมการผู้จัดการของโจทก์ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันทำให้ราคาหุ้นที่ขายทอดตลาดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1125 บัญญัติแต่เพียงว่าหุ้นซึ่งริบแล้วให้เอาออกขายทอดตลาดโดยไม่ชักช้า ฯลฯ ซึ่งข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้โฆษณาบอกการขายทอดตลาดแล้ว และโจทก์เป็นผู้ขายทอดตลาดหุ้นแม้ผู้เข้าสู้ราคาจะเป็นเครือญาติของกรรมการผู้จัดการของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าเป็นการกระทำแทนโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 512 ที่ห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง และไม่ปรากฏว่าโจทก์ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริตอย่างไรจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยโดยชอบแล้ว เมื่อขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาจากจำเลยผู้ถือหุ้นได้
พิพากษายืน