แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย และจำเลยกับผู้ตายเป็นลูกหนี้สินเชื่อของโจทก์เช่นเดียวกัน การที่จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยจำเลยยอมรับผิดร่วมกับกองมรดกของผู้ตาย โดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขสำคัญว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองคดีกับเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาด และหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวดจนกว่าจะครบนั้นก็เนื่องจากในขณะนั้นสินเชื่อในส่วนของจำเลยเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หากจำเลยไม่เข้ารับใช้หนี้ของผู้ตายแล้วโจทก์ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่จำเลยอีก ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มเติมความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตายที่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ดังนั้น สัญญารับใช้หนี้จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,365,319.61 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,167,760.31 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้น ทนายจำเลยแถลงขอสละประเด็นอื่น คงให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า สัญญารับใช้หนี้ตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นายสำรวยหรือกฤษฎา ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน 3,200,000 บาท และ 600,000 บาท โดยนำที่ดิน 1 แปลง มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้กับโจทก์เป็นเงิน 3,800,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมรับผิดชำระหนี้จนครบ ต่อมานายสำรวยหรือกฤษฎาไม่ชำระหนี้จึงถูกฟ้องต่อศาลแพ่ง 2 คดี คดีแรกคือ คดีหมายเลขแดงที่ ธ.12595/2543 ศาลแพ่งพิพากษาให้ชำระเงิน 4,716,473.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 3,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีที่สองคือ คดีหมายเลขแดงที่ ธ.12698/2543 ศาลแพ่งพิพากษาให้ชำระเงิน 578,760.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2551 จนถึงวันฟ้องและอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 182,349.15 บาท ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง นายสำรวยหรือกฤษฎาถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นพี่ชายของผู้ตาย ทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาร่วมกับกองมรดกของนายสำรวยหรือกฤษฎา โดยยอมรับว่ายอดหนี้ตามคำพิพากษารวม 5,477,582.04 บาท ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความจำนวน 143,079 บาท นั้นถูกต้องและจะชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แม้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนายสำรวยหรือกฤษฎาด้วยก็ตาม โดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความทั้งสองคดีกับเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดโดยผ่อนชำระเป็นงวดจนกว่าจะครบถ้วน หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวดจนกว่าจะครบ หากผิดนัดยินยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีพร้อมดอกเบี้ยอัตราผิดนัดตามประกาศของโจทก์ในขณะนั้นตามสัญญารับใช้หนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญารับใช้หนี้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้เดิมของผู้ตายโดยตรง แต่จำเลยมีความเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกับผู้ตายต้องเกื้อหนุนกันเป็นปกติ จำเลยก็เป็นลูกหนี้สินเชื่อโจทก์ ซึ่งโจทก์จัดให้จำเลยอยู่กลุ่มเดียวกับผู้ตาย จำเลยได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันแก่บุคคลภายนอกที่จำเลยรับจ้างทำงานอยู่ โจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 มาปรับใช้ จึงไม่ทำให้จำเลยต้องรับผิดหรือรับภาระชำระหนี้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด อันทำให้โจทก์ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 แต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อตกลงในข้อสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า…ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น…” ในวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โจทก์รับในฎีกาว่า จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนี้เดิมของผู้ตายโดยตรง แต่จำเลยเป็นพี่น้องกับผู้ตาย ซึ่งจำเลยก็รับว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย จำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) โจทก์รับในฎีกาว่า จำเลยยังเป็นลูกค้าสินเชื่อของโจทก์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ให้จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้เพราะจำเลยเป็นพี่น้องกับผู้ตาย จึงเท่ากับจำเลยทำสัญญาในฐานะที่จำเลยเป็นทายาทผู้ตาย การที่จำเลยทำสัญญารับใช้หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยจำเลยยอมรับผิดร่วมกับกองมรดกของผู้ตาย โดยมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่สำคัญว่า เมื่อโจทก์ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เพียงใด จำเลยจะชำระหนี้ในส่วนต่างระหว่างหนี้ตามคำพิพากษาและดอกเบี้ยจนถึงวันชำระเสร็จและค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองคดีกับเงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาด และยังมีข้อตกลงอีกว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวดจนกว่าจะครบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มเติมความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของผู้ตายที่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (4) ประกอบมาตรา 246 เมื่อพิเคราะห์ถึงความสุจริต อำนาจต่อรอง ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัดจัดเจน ความคาดหมายและทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์จำเลยในคดีนี้ตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว เห็นได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าสินเชื่อจึงเป็นผู้บริโภคกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เพราะจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่ตนแต่ข้อสัญญาดังกล่าวให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ที่โจทก์ฎีกาว่า นางลัดดา มารดาผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ จำเลยเป็นพี่น้องกับผู้ตายไม่มีสิทธิรับมรดกนั้น เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ให้จำเลยลงชื่อในหนังสือรับใช้หนี้เพราะจำเลยเป็นพี่น้องกับผู้ตายเป็นการทำสัญญาในฐานะจำเลยเป็นทายาทผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาในชั้นนี้ว่าจำเลยจะได้รับมรดกหรือไม่ ต้องไปว่ากันในชั้นบังคับคดี ดังนั้น สัญญารับใช้หนี้จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ