คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3463, 3464, 3465, 3466, 3467, 3468, 3469, 3470 และ 3471 ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระหว่างโจทก์โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าภาษีเงินได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลชั้นต้นให้รอการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 2 เสร็จสิ้นแล้วจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดไปตามรูปคดีสำหรับจำเลยทุกคน
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์คืนเงิน 65,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2551 จนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 2 ปี 70 วัน รวมเป็นเงิน 75,447,800 บาท และให้ชดใช้เงินลงทุนพัฒนาที่ดินปลูกยางพารา 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 จนถึงวันฟ้องแย้ง รวมเป็นเงิน 15,631,250 บาท รวมทั้งสิ้น 91,079,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 80,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการลงทุนปลูกยางพาราที่สามารถทำรายได้ให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องเดิมและให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งเป็นไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จากสารบบความ ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วกำหนดประเด็นพิพาท ดังนี้ ข้อ 1. การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่ และข้อ 2. จำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตหรือไม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีไม่ต้องสืบพยานและสมควรวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย จึงนัดฟังคำสั่งรายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งข้อความในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ศาลชั้นต้นบันทึกว่ากรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นพิพาทข้อแรกหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่ากระทำการโดยสุจริต มีผลทำให้คดีไม่มีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ที่บันทึกไว้ว่า ศาลสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วยอมรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งกรรมการของโจทก์เพียงคนเดียว มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ตามเอกสารท้ายฟ้อง จำนวน 20 ข้อ จำเลยที่ 1 กระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยมีค่าตอบแทนตามสำเนาหนังสือรับรองบริษัทพร้อมวัตถุประสงค์ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น สัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมคำขอและบันทึกการประเมินราคา และสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) รวม 4 ชุด สำหรับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทนายโจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จโดยไม่ได้มีการประชุม ส่วนทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ยอมรับว่าเป็นเอกสารเท็จ ศาลชั้นต้นกำหนดข้อพิพาทว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริตหรือไม่ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลกำหนดประเด็นพิพาท โดยทนายโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่าแล้วแต่ดุลพินิจของศาลและไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ประเด็นข้อสองเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายทั้งสองประเด็นตามที่ทนายโจทก์แถลง เห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความ แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงต่อศาลชั้นต้นเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ยอมรับว่าเป็นเอกสารเท็จและวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายและนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อและที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นพิพาทโดยทนายโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานและทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่า สุดแล้วแต่ดุลพินิจของศาลและไม่ติดใจสืบพยาน คำแถลงของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่ไม่ติดใจสืบพยาน จึงอยู่ที่การขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายประเด็นพิพาทข้อแรกที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ทั้งคำขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ขอเข้ามากับคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ก็เพียงขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจนำที่ดินของโจทก์ไปขายแก่จำเลยที่ 2 และภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่รวมอยู่ในประเด็นพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียเลยทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้รายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ศาลชั้นต้นให้มีผลว่าก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ว่า ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่มาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทตามฟ้องแก่จำเลยที่ 2 มีผลผูกพันโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทตามฟ้องแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่

Share