คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์เรียก เป็นค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่มีมาก่อนวันที่ 7 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็น วัน ที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยว่า “ทั้งสอง ฝ่าย ตกลงระงับข้อพิพาททั้งปวง” หมายความว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ก่อนวันทำสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีอยู่ให้ถือตามความที่ตกลงกันไว้ ในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ซึ่งในสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกัน และโจทก์ ได้ตกลงไว้ในสัญญาข้อ 4 ว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากจำเลย อีก กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ เกี่ยวกับเงินใด ๆ รวมทั้งค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ที่มีข้อพิพาทกัน อยู่ก่อนวันทำสัญญานี้เป็นอันระงับไปโดยผลของ สัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852.

ย่อยาว

คดีทั้งสี่ร้อยสิบเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 417
โจทก์ทั้งสี่ร้อยสิบเจ็ดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่ยังจ่ายขาดให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ร้อยสิบเจ็ดสำนวนให้การและแถลงให้การด้วยวาจาว่าโจทก์ทุกคนไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะโจทก์ทุกคนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย โดยยอมระงับข้อพิพาททั้งปวงที่มีอยู่และสัญญาว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีก
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันหลายประการและยอมรับว่า จำเลยได้ประกาศเลิกจ้างโจทก์ทุกคนล่วงหน้าต่อมาโจทก์ทุกสำนวนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยมีข้อความอย่างเดียวกันตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์แต่ละคนได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า “สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1 มีผลใช้บังคับได้ ตามเอกสารดังกล่าวโจทก์ทุกคนสละสิทธิเรียกร้องเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามที่ฟ้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินดังกล่าวเอาแก่จำเลยอีกได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสี่ร้อยสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสี่ร้อยสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละคนที่จะเรียกให้จำเลยชำระเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามที่ฟ้องยังไม่ระงับไป โจทก์ทุกคนจึงมีอำนาจฟ้องพิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1มีความว่า “…ทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาททั้งปวงดังต่อไปนี้
1. ลูกจ้างตกลงยินยอมรับค่าชดเชยตามกฎหมาย เนื่องจากบริษัทฯได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2524 ไว้เป็นจำนวน…บาท (ตามจำนวนที่โจทก์แต่ละคนตกลง) และข้าพเจ้าได้รับเงินไว้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วในขณะทำสัญญานี้
2. บริษัทฯ ตกลงยอมจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวตามข้อ 1
3. ลูกจ้างยอมรับว่าการที่บริษัทฯ ได้เลิกจ้างข้าพเจ้าในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างโดยถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม และเป็นการกระทำที่เป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าแล้ว
4. ลูกจ้างสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากบริษัทฯ อีก…”
ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องว่า ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์ทุกคนเรียกร้องมานั้นเป็นค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่มีมาก่อนวันที่ 7 มีนาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทุกคนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1กับจำเลย ดังนั้นตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความตอนต้นที่ว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาททั้งปวง” นั้น จึงหมายความว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีอยู่นั้นให้ถือตามความที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ซึ่งในสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทุกคนตามจำนวนที่ตกลงกัน และโจทก์ทุกคนได้ตกลงไว้ในสัญญาข้อ 4 ว่า จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือเรียกเงินใด ๆ จากจำเลยอีกเช่นนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทุกคนเกี่ยวกับเงินใด ๆ รวมทั้งค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่มีข้อพิพาทกันอยู่ก่อนวันทำสัญญานี้นั้นเป็นอันระงับไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.1 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่ระงับไปแล้วตามกฎหมายขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้จำเลยรับผิดอีกได้…”
พิพากษายืน.

Share