คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญามัดจำซื้อที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 1 และป.ผู้จะขายให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินไว้ก่อน และกำหนดนัดโอนเมื่อจำเลยที่ 1 และ ป. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากเจ้าพนักงานแล้ว ต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และ น.ซึ่งเป็นบุตรของ ป. มาแจ้งว่าไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์จากเจ้าพนักงานและตกลงให้ที่ดินเป็นของโจทก์ไม่ขอเกี่ยวข้องอีกต่อไปต่อมาจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตมาขอจัดการมรดกของ ป. แล้วขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ไป จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ เป็นการฟ้องในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งได้สิทธิโดยการครอบครองหาใช่โดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญามัดจำไม่เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็ชอบที่ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลล่างสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องโดยยกสัญญามัดจำขึ้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 โจทก์ทำสัญญามัดจำซื้อที่ดิน 1 แปลง จากจำเลยที่ 1 และนายแปลก จำปา ที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ในราคา 40,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 และนายแปลกได้รับเงินไปแล้ว 30,000 บาท จำเลยที่ 1 และนายแปลกตกลงให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินไว้ก่อนให้ทำนาและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ส่วนเงินอีก 10,000 บาท ตกลงจะจ่ายกันเมื่อจำเลยที่ 1และนายแปลกได้โอนที่ดินให้โจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน กำหนดนัดโอนจะได้ตกลงกันอีกครั้งหนึ่งเพราะต้องรอให้จำเลยที่ 1 และนายแปลกได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสียก่อนหลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 และนายแปลกมารับเงินที่โจทก์ค้างอยู่หลายครั้งวันที่ 11 กันยายน 2535 หลังจากนายแปลกตายแล้ว นายนพดล จำปาบุตรนายแปลกได้มาขอรับเงินค่าที่ดินอีก 2,100 บาท สามีโจทก์ได้ให้เงินไปแล้ว และตกลงนัดโอนที่ดินภายใน 1 เดือนนับแต่วันดังกล่าวเมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 และนายนพดลมาแจ้งว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่ได้รับจากเจ้าพนักงานและตกลงให้ที่ดินเป็นของโจทก์ไม่ขอเกี่ยวข้องอีกต่อไป ต่อมาจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตมาขอจัดการมรดกของนายแปลกแล้วจัดการขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2536 ในราคา 175,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแปลก จำปากับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแปลกจำปา โอนที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงิน175,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่กำหนดนัดโอนใน 6 เดือน เมื่อครบกำหนดสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปจัดการโอนและรับเงินอีก 10,000 บาท แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยที่ 1จึงถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและริบเงินมัดจำแล้วยกที่ดินให้นายแปลกจำปา บุตรจำเลยที่ 1 ครอบครองตลอดมาจนกระทั่งนายแปลกตายเมื่อปี 2525 จำเลยที่ 1 จึงเข้าครอบครองต่อเรื่อยมา โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เอกสารการรับเงินของนายนพดล จำปา โจทก์ทำปลอมขึ้น จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริต ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1251/2536 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์อ้างมาในฟ้องว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองในที่ดินพิพาทเลยจึงชอบที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความและวินิจฉัยในประเด็นนี้เสียก่อนว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษายกฟ้องโดยยกเอาสัญญามัดจำขึ้นวินิจฉัยเพียงอย่างเดียวโดยมิได้ฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความก่อน จึงเป็นการไม่ชอบพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การชี้สองสถานให้ถูกต้องแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ระหว่างยื่นฎีกาโจทก์ถึงแก่กรรมนายสมโภช แก้วพิทยา ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาอนุญาตมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในสำนวนตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์อ้างว่า เมื่อทำสัญญามัดจำตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 แล้วจำเลยที่ 1 และนายแปลก จำปา ตกลงให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไว้ก่อน และต่อมานายนพดล จำปา บุตรของนายแปลกได้รับเงินค่าที่ดินจากสามีโจทก์อีก 2,100 บาท เมื่อวันที่ 11 กันยายน2535 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และแจ้งว่าไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเพื่อโอนให้โจทก์ตามข้อตกลงจำเลยที่ 1 และนายนพดลจึงตกลงให้ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยจะไม่ขอเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป และมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งได้สิทธิโดยการครอบครองหาใช่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญามัดจำไม่แม้โจทก์จะอ้างถึงสัญญามัดจำและหนังสือรับเงินค่าที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ก็เป็นการบรรยายให้เห็นความเป็นมาของที่ดินพิพาทว่าโจทก์ได้มาอย่างไร เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การได้สิทธิในที่ดินพิพาทจึงอาจได้มาจากนิติกรรมหรือได้มาโดยการส่งมอบการครอบครองแก่กันอันเป็นการโอนโดยข้อเท็จจริงก็ได้เมื่อโจทก์อ้างว่าเจ้าของสิทธิเดิมได้มอบการครอบครองให้แล้วโจทก์จึงเป็นผู้ครอบครองที่พิพาท แต่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเลยก็ชอบที่ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายให้สิ้นกระแสความและวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่จำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเสียเกินมา”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share