แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้รับจ้างทำงานสำเร็จบางส่วนแต่ผู้ว่าจ้างก็ยอมรับเอาศาลอาจให้ผู้ว่าจ้างใช้ค่าจ้างให้เพียงบางส่วนได้
ย่อยาว
ได้ความว่า จำเลยเคยจ้างโจทก์กับนายยาทำไม้ออกจากป่า ซึ่งต้องใช้ช้างเป็นเครื่องมืองัดลาก ช้างที่ใช้นั้น บางตัวเป็นของผู้รับจ้างแต่มีจำนวนไม่พอแก่การงาน ผู้จ้างต้องออกทุนซื้อช้างเพิ่มเติมให้อีกโดยมีเงื่อนไขว่า เมื่องานเสร็จแล้ว จะโอนช้างในราคาทุนหรือตามราคาที่ตกลงกันให้แก่ผู้รับจ้างโดยคิดหักกับเงินค่าจ้าง การงานที่ผู้รับจ้างกระทำมักแบ่งเป็น 3 ระยะ และคิดอัตราค่าจ้างตามระยะงานกันเป็นหน่วยพิกัดตามระยะนั้น ๆ สำหรับไม้ขนาดใหญ่ถัวโต 9 กำ ยาว 4 วา คิดพิกัดละ 6 บาท
ระยะ 1 งานตัดฟันไม้ลงในป่า ค่าจ้าง 3 พิกัด
ระยะ 2 งานชักลากออกรวมหมอนในป่าริมทางลากล้อ ค่าจ้าง 2 พิกัด
ระยะ 3 งานชักลากจากระยะ 2 ถึงริมน้ำตลอดจนคัดส่งลงน้ำค่าจ้าง10 พิกัด
ตามหนังสือสัญญาฉบับแรก ลง 19 มกราคม 2491 ทำไม้เกว้าที่ป่านครเดิฐ จังหวัดสวรรคโลก ให้เสร็จภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 2 จำนวนจำนวนหนึ่ง 300 ท่อนรับทำทั้ง 3 ระยะ อีกจำนวนหนึ่ง 500 ท่อนรับจ้างทำเพียงระยะ 2 เท่านั้น โดยโจทก์ซื้อช้างมอบให้ผู้รับจ้าง 2 เชือก ชื่อทองใบ ราคา 7,500 บาท และดาวเรืองราคา 10,000 บาทไปทำงาน
หนังสือสัญญาฉบับที่ 2 ลง 7 พฤษภาคม 2492 ทำไม้เกว้าส่งให้จำเลยอีก 300 ท่อน ขนาดถัว 9 กำ ยาว 4 วา ค่าจ้าง 15 พิกัด(เท่ากับท่อนละ 90 บาท) ระบุขั้นงานว่า ลากส่งให้ที่บ้านคุ้งยางตำบลป่ากุ่มเกาะ อำเภอสวรรคโลก และคัดส่งให้ผู้จ้างด้วย จำเลยผู้จ้างได้ซื้อช้างชื่อบุญถึง หรือพลายเพ็ชร ราคา 15,050 บาทมอบให้โจทก์และนายยาไปทำงานอีกหนึ่งเชือก
ตามสัญญาฉบับแรก โจทก์อ้างว่า ทำส่งไม้ให้จำเลยได้ 150 ท่อนแล้วไม้หมด เลยเลิกสัญญากัน แต่จำเลยว่า ไม่ได้ทำส่ง เลยเลิกสัญญากัน แต่ตามทางพิจารณา นายยาคู่หุ้นส่วนกับโจทก์ รับสมข้างจำเลย และโจทก์ก็มิได้มีพยานอื่นสืบประกอบคำของตน จึงน่าเชื่อข้างจำเลย อย่างไรก็ดี สัญญาแรกนี้ไม่มีข้อพิพาทที่ยกพฤติการณ์ขึ้นกล่าวไว้ก็เพียงเพื่อให้เชื่อมโยงถึงหนังสือสัญญาฉบับที่ 2ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า
คู่ความรับกันว่า เมื่อตกลงเลิกสัญญาฉบับแรกกันเสร็จแล้วจึงตกลงทำสัญญาฉบับที่ 2 ต่อกัน ส่วนช้างของผู้จ้าง 2 เชือก ตามสัญญาเดิม ก็เอามารวมให้โจทก์และนายยา ผู้รับจ้างทำไม้ตามสัญญาฉบับที่ 2 ร่วมกับช้างของโจทก์ ชื่อบุญถึงหรือพลายเพ็ชร รวมเป็น 3 เชือกและทำไม้ได้ 1,254 ท่อน เป็นขนาดใหญ่ถัว 9 กำ ยาว 4 วาซึ่งคิดค่าจ้างพิกัดในอัตราพิกัดละ 6 บาท
โจทก์ฟ้องว่า ได้ส่งไม้ 1,254 ท่อนนี้ให้จำเลยแล้วตามสัญญาคิดค่าจ้างชักลากในราคาตามสัญญา 15 พิกัด (หักค่าตัดฟันเสีย 3 พิกัด) คิดเพียง 12 พิกัด เป็นเพียง 90,288 บาท หักค่าช้าง 3 เชือก และค่าตัดฟันถอนตอ รวม 53,984 บาท จำเลยยังคงเป็นลูกหนี้ค่าจ้างทำไม้อีก 36,304 บาท และว่าในปี 2493 คู่สัญญาตกลงให้จำเลยขายช้างดาวเรือง เพราะลากไม้ไม่เป็น ขายได้ 12,700 บาท โจทก์และนายยาได้รับไป 2,700 บาท อีก 10,000 บาท อยู่ที่โจทก์ ต่อมาโจทก์ตกลงให้นายยาปลีกตัวออกจากหุ้นส่วนทำไม้ โดยโจทก์โอนช้างของโจทก์ให้นายยาไป 1 เชือก นายยายอมไม่เกี่ยวข้องในช้างที่ผู้ว่าจ้างมอบมาทำงานตามสัญญาต่อไป โจทก์ขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ช้างทองใบและบุญถึงให้ตามสัญญา จำเลยก็ประวิง จึงขอให้จำเลยโอนช้างทองใบและบุญถึงให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ก็ให้ใช้ราคา 22,550 บาท กับให้ชำระค่าจ้างทำไม้ 36,304 บาท และค่าขายช้างดาวเรืองอีก 10,000 บาท รวม 46,304 บาท ให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่า เพราะเหตุที่โจทก์กับนายยาทำไม้ส่งตามสัญญาฉบับแรกไม่ได้เลย จึงขอทำความตกลงเปลี่ยนมาทำไม้ในป่าดงข่าตำบลทุ่งเสลี่ยม และลากไม้มาไว้ที่วัดป่าม่วง ตำบลวังพิณพาทย์แต่แล้วโจทก์กับนายยาทำได้เสร็จเพียงตัดฟันไม้ได้ 1,254 ท่อนนี้และชักลากมารวมหมอนริมทางลากล้อ (งานระยะ 2) เพียง 400 ท่อนค่าจ้าง (2 พิกัด) ตก 4,800 บาท นอกนั้นยังอยู่ในป่า และเป็นการล่าช้า โจทก์และนายยาจึงตกลงกับจำเลยให้เอาช้างของจำเลย 6 เชือกชักลากไม้นอกนั้น (854 ท่อน) ออกจากป่ามารวมหมอนริมทางลากล้อและจ้างรถยนต์คนอื่นชักลากไม้ทั้ง 1,254 ท่อนนี้ มาถึงริมลำน้ำยมที่วัดป่าม่วง โดยทุนทรัพย์ของจำเลยเอง ฉะนั้น โจทก์และนายยาควรได้ค่าจ้างตัดฟันไม้ 1,254 ท่อน 3 พิกัด เงิน 22,572 บาท ค่าลากรวมหมอนริมทางลากล้อ 400 ท่อน 2 พิกัด เงิน 4,800 บาท รวม 27,372 บาท เท่านั้น ต่อมาโจทก์และนายยาได้รับเงินจากจำเลยไปหลายครั้งจนถึงเดือนพฤษภาคม 2493 ตกลงคิดบัญชีกัน รวมรับไปแล้ว 40,310 บาทหักกันแล้วโจทก์กับนายยาจึงยังกลับเป็นหนี้จำเลยอยู่ 12,938 บาท และภายหลังรับไปอีก 1,000 บาท รวมเป็น 13,938 บาท ด้วยเหตุที่โจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่ โจทก์จึงไม่เคยขอโอนช้างจากจำเลยเลยช้างดาวเรืองนั้น แท้จริงขายไป 5,700 บาท เท่านั้น และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เอาช้างไปรับจ้างทำไม้ผู้อื่น ซึ่งตามสัญญาระบุว่าให้ริบช้างของโจทก์ซึ่งนำมาทำไม้รายนี้ด้วย จึงขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งเรียกเงินจากโจทก์ 13,938 บาท กับขอริบช้างโดยโอนตั๋วพิมพ์รูปพรรณช้างผู้ทองจันทร์ของโจทก์ให้จำเลย หรือถ้าส่งให้ไม่ได้ขอใช้ราคาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า มิได้ผิดสัญญา ความจริงเป็นดังคำฟ้องของโจทก์ และในสัญญาฉบับที่ 2 มิได้มีระบุว่าให้โจทก์มีหน้าที่ลากไม้ส่งริมน้ำยมตอนลากจากหมอนริมทางลากล้อถึงริมน้ำยมจึงเป็นภาระของจำเลยเอง ไม่เกี่ยวกับโจทก์
โจทก์แถลงรับว่า ได้รับเงินล่วงหน้าจากจำเลยมาแล้ว 40,310 บาท จริง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาฉบับที่ 2 ไม่กินถึงงานลากจากที่รวมหมอนในป่าริมทางลากล้อไปถึงริมลำน้ำยม งานในระยะนี้จึงไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา และเชื่อว่าจำเลยขายช้างดาวเรืองไปเป็นเงิน 12,700 บาท พิพากษาว่า
1. ให้จำเลยโอนช้างทองใบและบุญถึงให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ให้ใช้ราคา 22,550 บาท
2. ให้จำเลยชำระเงินราคาไม้ไว้โจทก์ ซึ่งเมื่อหักค่าช้าง 3 เชือกและค่าตัดฟันรวมเป็นเงิน 53,984 บาท แล้วเป็นเงิน 30,304 บาท
3. ให้จำเลยชำระเงินค่าขายช้างดาวเรืองที่ยังเหลืออีก 10,000 บาท ให้โจทก์ เมื่อรวมกับราคาไม้อีก 30,304 บาท รวมเป็นเงิน 40,304 บาท แต่โจทก์รับเงินจากจำเลยไปแล้ว 40,310 บาท คงเหลือเงินที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยอีก6 บาท จึงให้โจทก์จ่ายเงิน 6 บาทนี้ให้จำเลยตามฟ้องแย้ง
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่า เจตนารมณ์ของสัญญาฉบับหลัง หน้าที่ของโจทก์กินถึงงานระยะ 3 กล่าวคือ ลากจากที่รวมหมอนในป่าริมทางลากล้อไปถึงริมน้ำยมด้วย เมื่อโจทก์มิได้ทำงานอันนี้ก็คิดค่าจ้างระยะนี้ไม่ได้ และฟังข้อเท็จจริงสมตามข้อต่อสู้ของจำเลย พิพากษาแก้ศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด ให้โจทก์ชำระเงินคืนแก่จำเลยตามฟ้องแย้งเพียง 12,938 บาท (ส่วนอีก 1,000 บาท ที่อ้างว่าโจทก์รับไปภายหลังนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้) ฟ้องแย้งนอกจากนี้เป็นอันยก
โจทก์ฝ่ายเดียวฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว แม้สัญญาฉบับหลังมิได้ระบุว่าให้ลากจากที่รวมหมอนในป่าริมทางลากล้อไปถึงริมน้ำยมตามสัญญาฉบับแรกก็จริง แต่ก็เห็นเจตนารมณ์ได้ชัดว่า ตกลงให้งานระยะนี้ตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ด้วยดุจเดียวกับสัญญาฉบับแรก พยานโจทก์จำเลยในเรื่องนี้ก็รับกันว่าเป็นเช่นนั้น ทางสำหรับระยะ 3 โจทก์ทำไว้แล้ว ช้าง 2 เชือก ของจำเลยตามสัญญาเดิมก็เอามาทำงานสมทบกับงานตามสัญญาฉบับหลัง และในสัญญาระบุอุดท้ายไว้ว่า คัดส่งให้ผู้จ้างด้วย สถานที่ลากส่งคือบ้านคุ้งยาง ก็ปรากฏว่าอยู่ติดริมน้ำยม ข้อเถียงของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
งานระยะ 1 ตัดฟันไม้ 1,254 ท่อน จำเลยยอมคิดให้โจทก์แล้ว 3 พิกัด เงิน 22,572 บาท ข้อนี้จึงไม่มีปัญหา
งานระยะ 2 โจทก์นำสืบไม่ได้ชัดว่าทำหมดทั้ง 1,254 ท่อน มีพยานก็เพียงไปเห็นชั่วครู่ เมื่อรวมหมอนในป่าอยู่ริมทางลากล้อแล้ว เป็นไม้รวม ๆ กันอยู่ แต่นายยาคู่หุ้นส่วนกับโจทก์ยืนยันประกอบกับลูกจ้างจำเลยที่เอาช้างจากจังหวัดแพร่มาทำ ฟังได้ชัดว่า จำเลยได้เข้าร่วมจัดทำงานระยะ 2 ด้วย ข้อนี้จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทำงานระยะ 2 เพียง 400 ท่อน ค่าจ้าง 2 พิกัด ตก 4,800 บาท
งานระยะ 3 โจทก์รับแล้วว่ามิได้ชักลากจากที่รวมหมอนในป่าริมทางลากล้อไปถึงริมน้ำยม แต่อย่างไรก็ตาม คำพยานทั้งสองฝ่ายรับรองต้องกันว่าโจทก์ทำการตัดทางสำหรับการลากไม้ของระยะ 3 และตอนสุดท้ายเอาช้างคัดส่งลงน้ำให้จำเลยทั้งหมด (1,254 ท่อน) การงานที่โจทก์ทำเพียงบางส่วนไปแล้วนี้จำเลยมิได้สงวนสิทธิโต้แย้งได้ยอมรับประโยชน์จากผลงานนั้น แม้จำเลยต้องจ้างรถยนต์คนอื่นลากเสียไปอีกถึง 15 พิกัด ซึ่งทำให้จำเลยสึกหรอไปกว่าที่ควรจะเสียตามสัญญาไปอีกก็ดี แต่ตามพฤติการณ์พอเห็นเจตนาของจำเลยได้อยู่ว่า มีน้ำใจจะประคับประคองออมชอมมิให้โจทก์ ซึ่งเสมือนเป็นลูกน้องต้องยุบยับ และทั้งเพื่อจะได้ประสานงานกันอีกต่อไปในกาลข้างหน้าด้วย
ศาลฎีกาจึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าจ้างในผลงานเพียงส่วนในระยะ 3 ให้โจทก์ในอัตราอีกกึ่งพิกัดในจำนวนไม้ 1,254 ท่อน เป็นเงิน 3,762 บาท
รวมงาน 3 ระยะเป็นเงินที่ให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ 31,134 บาทแต่โจทก์ได้รับล่วงหน้าจากจำเลยไปแล้ว 40,310 บาท จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลยในส่วนเกินอีกเพียง 9,126 บาทและให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียม 3 ศาล แทนจำเลยเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะ กับให้ใช้ค่าทนายชั้นฎีกา 150 บาท แทนจำเลย นอกจากนี้คงยืนตามเดิม