คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10625/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้ผิดนัด คงให้การแต่เพียงว่าสัญญาบัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลบังคับ เนื่องจากโจทก์มิได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่การเลิกสัญญากับการผิดนัดเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน กล่าวคือ หนี้ที่เกิดจากมูลสัญญา เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 หรืออาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตาม มาตรา 386 ถึง มาตรา 388 ก็ได้ แล้วแต่เจ้าหนี้จะเลือก หาได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยมีสิทธิไม่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยมิได้ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนหรือบอกกล่าวอีกตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 215,372.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 144, 973.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 173,992.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 173,992.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 139,963.50 บาท นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในเรื่องนี้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์หมายเลข 3763 – 145942 – 01007 ส่วนนางมาลี เป็นสมาชิกบัตรเสริมหมายเลข 3763 – 145942 – 01015 ซึ่งจำเลยยินยอมรับผิดต่อโจทก์สำหรับยอดค้างชำระอันเกิดจากการใช้บัตรเสริมดังกล่าว จำเลยและนางมาลีสมาชิกบัตรเสริมนำบัตรเครดิตและบัตรเสริมไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ทดรองจ่ายเงินแทนจำเลยและสมาชิกบัตรเสริม แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยเป็นรายเดือน แต่จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 173,992.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 139,963.50 บาท นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตแล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว คงให้การแต่เพียงว่าสัญญาบัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยยังคงมีผลบังคับอยู่ เนื่องจากโจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 35 ทวิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเท่านั้น แต่การเลิกสัญญากับการผิดนัดเป็นคนละเรื่องคนละกรณีกัน กล่าวคือ หนี้ที่เกิดจากมูลสัญญา เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 หรืออาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ถึงมาตรา 388 ก็ได้ แล้วแต่เจ้าหนี้จะเลือก หาได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยมีสิทธิไม่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน การที่จำเลยมิได้ชำระตามกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงต้องตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนหรือบอกกล่าวอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์

Share