คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5269/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติว่า “จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้” มาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลย อ่านให้คู่ความฟัง และให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที
ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ให้ศาลแรงงานบันทึกไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า การพิจารณาคดีแรงงานนั้นจำเลยจะให้การต่อสู้คดีเป็นหนังสือหรือแถลงให้การด้วยวาจาต่อหน้าศาลแรงงานก็ได้และจะให้การก่อนวันนัดพิจารณาคดีหรือในวันนัดพิจารณาคดีก็ได้ แต่การให้การก่อนวันนัดพิจารณาคดีนั้นต้องให้การเป็นหนังสือ หากจำเลยไม่ให้การ ศาลก็จะบันทึกไว้และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่าโจทก์ลาออกก่อนจะไม่ได้รับคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) แม้จำเลยจะแนบสำเนาสัญญาจ้างมาท้ายคำให้การ ซึ่งมีข้อความว่า “ลูกจ้าง (โจทก์) ทำยอดขายไม่ได้ตามที่บริษัทกำหนด ถ้าลาออกจะไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า)” ก็มิใช่ประเด็นที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบได้ จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นคำให้การไม่อาจรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และได้รับค่าน้ำมันเดือนละ 5,000 บาท มีข้อตกลงในการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่านายหน้าในการขายสินค้า (ค่าคอมมิชชั่น) โดยกำหนดว่าจำเลยจะจ่ายให้ร้อยละ 5 ของยอดที่ขายสินค้าได้โดยจ่ายทุก 3 เดือน ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2546 โจทก์ขายสินค้าได้รวมเป็นเงิน 1,567,300 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการขาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนในการขาย และค่าจ้างรวมค่าน้ำมันรถ พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตามฟ้องจริง แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่น และจำเลยไม่ติดค้างเงินเดือนหรือค่าน้ำมัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าในการขายสินค้า ค่าจ้างรวมค่าน้ำมัน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ลาออกก่อนกำหนดจ่ายค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) ที่จำเลยกำหนดรายไตรมาสแล้ว โจทก์จะไม่มีสิทธิได้ค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) เป็นการนำสืบพยานในประเด็นที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้ จึงไม่เป็นประเด็นให้ต้องวินิจฉัยนั้นไม่ชอบกฎหมาย พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติว่า “จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้” มาตรา 39 บัญญัติว่า “ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท และบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟัง และให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที
ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ให้ศาลแรงงานบันทึกไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า การพิจารณาคดีแรงงานนั้น จำเลยจะให้การต่อสู้คดีเป็นหนังสือหรือแถลงให้การด้วยวาจาต่อหน้าศาลแรงงานก็ได้ และจะให้การก่อนวันนัดพิจารณาคดีหรือในวันนัดพิจารณาคดีก็ได้ แต่การให้การก่อนวันนัดพิจารณาคดีนั้นต้องให้การเป็นหนังสือ หากจำเลยไม่ให้การ ศาลก็จะบันทึกไว้และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อคำให้การของจำเลยไม่ได้ให้การว่า โจทก์ลาออกก่อนจะไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า) แม้จำเลยจะแนบสำเนาสัญญาจ้างมาท้ายคำให้การ ซึ่งมีข้อความว่า “ลูกจ้าง (โจทก์) ทำยอดขายไม่ได้ตามที่บริษัทกำหนดถ้าลาออกจะไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น (ค่านายหน้า)” ก็มิใช่ประเด็นที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยจะนำพยานเข้าสืบได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการนำสืบนอกประเด็นคำให้การไม่อาจรับฟังได้นั้น ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน

Share