คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13227/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ในการฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 7 ร่วมกับพวกกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คำว่าไตร่ตรองไว้ก่อนมีความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นเรื่องที่มีการเตรียมการมาล่วงหน้ามิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยไม่ตั้งใจมาก่อน อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็อ้าง ป.อ. มาตรา 289 มาด้วย แม้โจทก์จะมิได้บรรยายว่าไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างไร ฟ้องโจทก์ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 371 ริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายโฮ้นและนางบุญช่วย บิดามารดาของนายนิกรผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูก เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 รวม 2 กระทง การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุกคนละ 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยทั้งเจ็ดคนละ 12 เดือน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4)ประกอบมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่งด้วย ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 7 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 7 สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกคนละตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษทั้งสามกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 7 เฉพาะข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 90 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงปรับคนละ 60 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และปรับคนละ 60 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 7 เพียงประเด็นเดียว จำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติ จำเลยที่ 7 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย มีปัญหาที่ต้องพิจารณาในเบื้องต้นเสียก่อนตามข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 7 นำสืบว่า จำเลยที่ 7 ได้กระทำไปโดยป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 7 ยิงผู้ตาย แต่มีพยานแวดล้อมใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 7 มายืนรออยู่ข้างถนน เมื่อรถของบริษัท เจ วี ซี จำกัด ที่ผู้ตายทำงานอยู่มาจอดบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้ตายลงมาจากรถคันดังกล่าวใกล้กับที่จำเลยที่ 1 และที่ 7 ยืนรออยู่ สักครู่หนึ่งมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 7 ก็หลบหนีไปพร้อมกับพวกที่รออยู่ที่ศาลาพักร้อนข้างถนนอีกด้านหนึ่ง พยานเหล่านั้นได้แก่นางสาวสมพิษณ์ นางสาวปราณี และนางธนู พนักงานของบริษัท เจ วี ซี จำกัด ที่นั่งรถมาด้วยกันกับผู้ตายกับจ่าสิบเอกชมชิด เจ้าของร้านขายของชำใกล้ที่เกิดเหตุ นางสาวปราณี นายธนูและจ่าสิบเอกชมชิดเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อผู้ตายลงจากรถแล้วเพียงครู่เดียวก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด หลังจากนั้นจึงมีคนบนรถที่ผู้ตายโดยสารมาลงมาจากรถเพื่อช่วยพยุงผู้ตายซึ่งถูกยิง คงมีแต่นางสาวสมพิษณ์เพียงคนเดียวเบิกความว่า ในระหว่างทางที่รถของบริษัทแล่นมา ได้มีการจอดรถรับเพื่อนของผู้ตายเป็นชาย 4 ถึง 5 คน ซึ่งไม่ใช่พนักงานของบริษัท เมื่อรถมาจอดในบริเวณที่เกิดเหตุ ผู้ตายเดินลงจากรถโดยถือมีดอยู่ในมือแล้วเหน็บไว้ข้างหลัง เพื่อนของผู้ตายที่ขึ้นรถมาระหว่างทางลงไปด้วย เมื่อประจันหน้ากับจำเลยที่ 1 และที่ 7 ผู้ตายชักมีดออกมา แล้วพยานได้ยินเสียงปืนดังขึ้นและตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 7 ว่า เพื่อนของผู้ตายที่ลงไปช่วยต่างมีมีดและแป๊บเหล็กที่อยู่ในลักษณะพร้อมเข้าทำร้ายจำเลยที่ 1 และที่ 7 ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น คำเบิกความของนางสาวสมพิษณ์ นอกจากจะแตกต่างกับพยานโจทก์ปากอื่นอีก 3 ปาก ที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันแล้ว ยังแตกต่างจากคำให้การของตนเองในชั้นสอบสวน คงมีที่เหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือพยานเห็นผู้ตายมีมีดเหน็บที่ด้านหลัง ตามข้อเท็จจริงที่ฟังยุติ นางสาวสมพิษณ์เป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 ที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน อยู่กินกันมาหลายปีมีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์ มีเหตุทะเลาะกัน นางสาวสมพิษณ์จึงไปอยู่กับผู้ตาย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 กับผู้ตายโกรธเคืองกัน หลังเกิดเหตุนางสาวสมพิษณ์เป็นผู้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ในวันนั้นเอง และเจ้าพนักงานตำรวจก็สามารถใช้การจับกุมดำเนินการจับกุมจำเลยอื่น ๆ ต่อมา พฤติการณ์แสดงว่า หลังเกิดเหตุใหม่ ๆ นางสาวสมพิษณ์ยังอาลัยอาวรณ์ผู้ตายซึ่งเพิ่งอยู่ด้วยกัน จึงได้ดำเนินการทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งรวมทั้งการให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน หลังเกิดเหตุเพียง 5 วันนางสาวสมพิษณ์ก็กลับมาอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ดังเดิม ดังนั้นคำเบิกความของนางสาวสมพิษณ์ที่ผิดไปจากคำให้การเดิมในชั้นสอบสวนจึงน่าเชื่อว่าได้กระทำไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 อันมีผลต่อเนื่องถึงจำเลยที่ 7 ซึ่งเรื่องนี้มีเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ คำเบิกความของนางสาวสมพิษณ์ซึ่งเพิ่มเติมจากคำให้การชั้นสอบสวนของตนที่ว่า พวกของผู้ตายที่ลงจากรถไปช่วยผู้ตายเพื่อจะทำร้ายจำเลยที่ 1 และที่ 7 ต่างมีมีดและแป๊บเหล็กอยู่ในมือตรงกันกับคำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความของฝ่ายจำเลยที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์คือจำเลยที่ 4 และที่ 5 รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 7 คำเบิกความของนางสมพิษณ์ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง น่าเชื่อถือตามคำให้การมากกว่า โดยถ้อยคำตามคำให้การนี้ตรงกันกับพยานโจทก์คนอื่นคือ นางสาวปราณี นายธนู และจ่าสิบเอกชมชิด ยกเว้นเฉพาะที่นางสาวสมพิษณ์ให้การว่าผู้ตายมีมีดเหน็บหลัง 1 เล่ม ก่อนลงจากรถ กรณีจึงฟังเชื่อได้ว่า รถของบริษัทไม่ได้รับพวกของผู้ตายในระหว่างทาง และไม่มีพวกของผู้ตายที่มีอาวุธมีดและแป๊บเหล็กลงไปช่วยผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ฝ่ายจำเลยแม้มีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เห็นพวกของผู้ตาย 7 ถึง 8 คน มีอาวุธมีดและไม้หรือแป๊บเหล็กลงจากรถตามผู้ตายมาช่วยผู้ตาย เห็นผู้ตายเงื้อมีดจะฟันจำเลยที่ 7 ซึ่งล้มอยู่ เสียงปืนก็ดังขึ้น แต่ก็มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ซึ่งรออยู่ที่เดียวกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เบิกความทำนองเดียวกันว่า ได้ยินแต่เสียงปืนดังแต่ไม่เห็นเหตุการณ์อะไร จึงเป็นคำเบิกความที่ขัดแย้งกัน ไม่อาจฟังเชื่อฝ่ายใดได้ ส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 7 ที่ว่าผู้ตายเงื้อมีดจะฟันตนในขณะที่ล้มอยู่ โดยขณะนั้นผู้ตายมีพวกมาด้วยนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นคำเบิกความของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงย่อมต้องเบิกความเข้าข้างตนเอง มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 7 จึงยังไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่นางสาวสมพิษณ์เบิกความว่าเห็นผู้ตายมีมีดตอนลงไปจากรถนั้น แม้จะตรงกับคำให้การแต่ก็ไม่อาจให้น้ำหนักแก่คำเบิกความส่วนนี้ได้ เพราะนางสาวสมพิษณ์เบิกความว่าหลังจากผู้ตายลงจากรถแล้ว ได้เห็นผู้ตายชักมีดออกมา และตอบคำถามทนายจำเลยที่ 7 ว่า เห็นกลุ่มพวกของผู้ตายชักมีดและแป๊บเหล็กวิ่งเข้าหาจำเลยที่ 1 และที่ 7 ก่อนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น แต่ตามคำให้การของพยานให้การว่า เมื่อผู้ตายเดินลงไปจากรถแล้วพยานก็มิได้สนใจอะไรอีก ผู้ตายลงไปแล้ว 5 นาทีเศษพยานจึงได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด หลังจากนั้นจึงมีคนบนรถ 4 ถึง 5 คน วิ่งลงไปยังที่เกิดเหตุ คำเบิกความของนางสาวสมพิษณ์จึงแสดงถึงความตั้งใจช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 7 นางสาวปราณีกับนายธนูก็อยู่บนรถ จ่าสิบตำรวจเอกชมชิดแม้อยู่ข้างล่างแต่ก็เห็นผู้ตายลงจากรถไม่มีผู้ใดเบิกความว่าเห็นผู้ตายถือมีดลงมาจากรถหรือชักมีดออกมา อีกทั้งผู้ตายถูกยิงในระยะกระชั้นชิด ไม่อาจเคลื่อนไหวไปไหนได้ หากมีมีดก่อนถูกยิงจริง ก็น่าจะต้องพบมีดดังกล่าวในที่เกิดเหตุ ที่จำเลยที่ 7 ฎีกาว่าพวกของผู้ตายอาจช่วยเก็บมีดไปแล้วนั้น เป็นการคาดเดาของจำเลยที่ 7 เท่านั้น และได้วินิจฉัยมาแล้วว่าผู้ตายมิได้มีพวกมาร่วมต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 7 จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ตายมีมีดมาด้วยในขณะเกิดเหตุ นอกจากนี้จำเลยที่ 7 เพิ่งมาเปลี่ยนข้อต่อสู้เป็นการป้องกันตัวก็คงเป็นเพราะเมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานของฝ่ายตนเองแล้วเห็นว่าจำเลยอื่น ๆ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ให้การตรงกันว่าจำเลยที่ 7 เป็นคนยิง ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 7 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยิง เมื่อฟังเชื่อได้ว่าผู้ตายลงจากรถมาพบจำเลยที่ 1 และที่ 7 เพียงคนเดียวโดยไม่มีอาวุธใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 7 ย่อมไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุอันเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ และการที่นางสาวสมพิษณ์ไปอยู่กินกับผู้ตาย ก่อนเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 ยังมีความต้องการให้กลับมาคืนดีกัน จำเลยที่ 1 และที่ 7 เคยไปตามนางสาวสมพิษณ์ครั้งหนึ่งแล้ว ก่อนวันเกิดเหตุ แต่นางสาวสมพิษณ์ก็ไม่ยอมกลับ จำเลยที่ 1 ย่อมมีความเจ็บแค้นหรือไม่พอใจอยู่มาก ในวันเกิดเหตุได้มีการชักชวนพรรคพวกพร้อมกันถึง 7 คน โดยจำเลยที่ 7 มีอาวุธปืนพกไปด้วย บรรจุลูกกระสุนพร้อม เมื่อไปติดตามที่บริษัทที่นางสาวสมพิษณ์และผู้ตายทำงานแล้วไม่พบ ก็ร่วมกันขับรถจักรยานยนต์ตามไปจนพบรถรับส่งของบริษัทแล้วขับแซงหน้าเลยไปรออยู่ที่ศาลาพักร้อนใกล้ที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ผู้ตายและนางสาวสมพิษณ์ต้องมาลงรถเพราะเป็นทางเข้าบ้านผู้ตาย มีการซื้อสุรามาดื่มกันเพื่อรอรถของบริษัทที่มาส่ง เมื่อรถใกล้จะมาถึง จำเลยที่ 1 และที่ 7 ได้ข้ามถนนมายังฝั่งที่รถของบริษัทจะมาจอด ตามคำเบิกความของพยานทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้ความเป็นอย่างเดียวกันว่า เมื่อรถจอดแล้วผู้ตายลงจากรถในระยะเวลากระชั้นชิดแทบจะทันทีทันใดเสียงปืนก็ดังขึ้น 1 นัด จำเลยที่ 7 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในระยะใกล้ ปรากฏตามความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจในรายงานการชันสูตรพลิกศพ แสดงว่าผู้ตายกับจำเลยที่ 1 และที่ 7 น่าจะมิได้มีการพูดอะไรกัน พฤติการณ์แห่งคดีตามที่โจทก์นำสืบมาเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน สำหรับที่จำเลยที่ 7 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายว่าจำเลยที่ 7 ไตร่ตรองไว้ก่อนอย่างไรเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายแล้วว่า การฆ่าผู้ตายครั้งนี้ จำเลยที่ 7 ร่วมกับพวกกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คำว่าไตร่ตรองไว้ก่อนมีความหมายสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นเรื่องที่มีการเตรียมการมาล่วงหน้า มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดโดยไม่ตั้งใจมาก่อน อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 มาด้วย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share