แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาขาคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นลำดับ หากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วแม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าว
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีและการยึดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2539 และการยึดทรัพย์ของจำเลยตามหมายบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 22 ธันวาคม 2542 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของโจทก์ ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องและไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2539 และการยึดทรัพย์ของจำเลยตามหมายบังคับคดีดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นยังมิได้ให้มีการรังวัดสอบเขตที่ดินให้ถูกต้องเสียก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและพิพากษา ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้รังวัดตรวจสอบที่ดินให้ถูกต้องแน่นอนเสียก่อนว่าบริเวณที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยังครอบครองทำประโยชน์เนื้อที่ 80 ตารางวาอยู่ในเขตที่ดินพิพาทหรือไม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีดำเนินการรังวัดที่ดินพิพาทและมีการรังวัดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 แล้ว ปรากฏว่า แผนที่ตามที่โจทก์นำชี้เขตและอ้างว่าจำเลยเคยครอบครองทำประโยชน์อยู่ในแนวเขตที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ 54 ตารางวา แต่ขณะนั้นจำเลยไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์แล้วโจทก์แถลงไม่ติดใจดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยในส่วนการครอบครองที่ดินนี้ คงติดใจบังคับคดีเฉพาะค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ดินตามฟ้องอันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง และข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นสาขาของคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งหากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีนี้จะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าวแล้ว และปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์นั้น จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นสรุปได้ว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246และ 142 (5) และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และยกฎีกาของจำเลย คงให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลย ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ