แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยรับว่ามีคนนำรถยนต์ที่ลักมาให้จำเลยเปลี่ยนเครื่องยนต์ ดังนี้ เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าขณะกระทำความผิด จำเลยได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก หรือฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 268, 357 วรรคสอง นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2995/2541 หมายเลขแดงที่ 6819/2543 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 9 ท – 1403 กรุงเทพมหานคร ของบริษัทสหกรณ์แท็กซี่ธนบุรี จำกัด ที่ถูกคนร้ายปล้นไป จากอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลย ซึ่งหมายเลขประจำตัวถังรถยนต์คันดังกล่าวถูกตัดออกและนำหมายเลขประจำตัวถังรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก – 8469 กาญจนบุรี ไปเชื่อมติดไว้แทน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โจทก์มีนายบุญเกริก วัฒนาอาษากิจ เป็นพยานเบิกความว่า พยานมีอาชีพซื้อขายซากรถยนต์อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีได้ซื้อซากรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 8469 กาญจนบุรี มาจากบริษัทประกันภัยคุ้มภัย จำกัด ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2540 จำเลยได้ซื้อซากรถยนต์คันดังกล่าวจากพยาน ปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ปจ.4 (ศาลจังหวัดกาญจนบุรี) เห็นว่า นายบุญเกริกไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย หนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ปจ.4 ดังกล่าวก็ระบุชื่อของจำเลยว่าเป็นผู้ซื้อ และระบุเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนและภูมิลำเนาของจำเลย หากจำเลยไม่ได้เป็นผู้ไปซื้อซากรถยนต์คันดังกล่าวจากนายบุญเกริกแล้ว นายบุญเกริกก็ไม่สามารถเขียนชื่อจำเลยและรายละเอียดเกี่ยวกับจำเลยได้ ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าไม่ได้ซื้อซากรถยนต์คันดังกล่าวและลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายในช่องผู้ซื้อไม่ใช่ของจำเลยนั้นเป็นคำเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างคำเบิกความของนายบุญเกริกและสัญญาซื้อขายได้ ที่จำเลยฎีกาว่าหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนในสัญญาซื้อขาย โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า หมายเลขดังกล่าวเป็นของจำเลยจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบแล้วโดยมีนายบุญเกริกเป็นพยานยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ไปซื้อซากรถยนต์และมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวไว้จริงโดยจำเลยมิได้ถามค้านพยานปากนี้ให้ได้ความตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากระแวงสงสัยว่า จำเลยได้ซื้อซากรถยนต์คันดังกล่าวจากนายบุญเกริกจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์ของกลางมีการนำมาตัดส่วนที่มีหมายเลขประจำตัวถังรถยนต์เดิมออกไป แล้วตัดส่วนที่มีหมายเลยประจำตัวถังรถยนต์คันที่จำเลยซื้อซากรถมาไปเชื่อมต่อติดไว้แทนกับการนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลางออกและนำเอาแผ่นป้ายทะเบียนของซากรถยนต์ที่จำเลยซื้อมาไปติดไว้แทน เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 8469 กาญจนบุรี พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมบ่งชี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าว และจำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์ของกลางดังกล่าวอยู่ในที่เปิดเผยไม่มีการซ่อนเร้นนั้น เห็นว่า การเปลี่ยนป้ายทะเบียนและหมายเลขประจำตัวถังรถยนต์ของกลางก็เพื่อเป็นการอำพรางไม่ให้บุคคลอื่นเห็นว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์คันที่ถูกคนร้ายปล้นทรัพย์มาซึ่งก็เป็นการซ่อนเร้นอันเป็นความผิดฐานรับของโจรด้วยแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลย ได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ซึ่งต้องด้วยลักษณะฉกรรจ์ในความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้ความว่า ในขณะกระทำความผิดจำเลยได้รู้อยู่แล้วว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ทั้งนี้ตามมาตรา 62 วรรคท้าย ในข้อนี้โจทก์มีเพียงสิบตำรวจเอกอภินันท์ สุวรรณบล เจ้าพนักงานตำรวจผู้สืบสวนและจับกุมจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่า สืบสวนทราบว่าที่อู่ซ่อมรถชื่ออู่ประหยัดเป็นอู่ที่ดัดแปลงรถที่ขโมยมาจากที่อื่น เมื่อไปตรวจสอบพบจำเลยกำลังซ่อมรถยนต์อยู่ พบรถยนต์ 2 คัน และเครื่องยนต์วางอยู่ที่พื้น ตรวจสอบพบมีหมายเลขถูกลบออก จำเลยรับว่ามีคนนำรถยนต์ที่ลักมาให้จำเลยเปลี่ยนเครื่องยนต์ ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยได้รู้อยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ไม่ได้ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคแรก หรือฐานรับของโจรตามมาตรา 357 วรรคสอง เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1