คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5260/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก เมื่อจำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทคาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหาย ในตำแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่นำสินค้าของผู้เสียหายไปเสนอขายให้แก่ลูกค้าและเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าส่งมอบให้แก่ผู้เสียหาย จำเลยรับเงินจำนวน 72,647.70 บาท จากนางสิริพร พุทธจักร ลูกค้าของผู้เสียหายที่ชำระค่าสินค้าแก่ผู้เสียหาย แล้วจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองดูแลเก็บรักษาของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 72,647.70 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 72,647.70 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับในศาลแขวง แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ…” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่ได้ดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยจำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share