คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” ของหนังสือพิมพ์รายวัน”มติชน” นอกจากจะระบุถึงชื่อและนามสกุลของโจทก์แล้ว ยังลงรูปโจทก์ด้วยทั้งข้อความก็หมายถึงโจทก์เป็นส่วนใหญ่ และข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์ประพฤติปฏิบัติอย่างคนไร้ศีลธรรมการที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยของโจทก์ให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่านายพิชิตผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพราะโจทก์มีนิสัยชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์ บ้านเมืองจะไปไม่รอด ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นนิสัยของหนังสือพิมพ์ที่พึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
บรรณาธิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ดังนั้น ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการที่จะต้องรับผิดเป็นตัวการต้องเป็นบรรณาธิการซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการอำนวยการมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ เจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” รับว่าเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณาทั้งหมดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการอำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ เจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน สมคบกันโฆษณาด้วยเอกสารหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามในหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวัน ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” โดยพาดหัวเรื่องว่า นายปัญญา “เลิกอะไร” พร้อมทั้งลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ดังกล่าวด้วย และบรรยายข้อความว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วนายปัญญาเคยผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักฝึกอบรมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชื่อของหลักสูตรก็บอกอยู่โต้แล้วว่า มีความมุ่งหมายเพื่อให้นักบริหารระดับ 7 ขึ้นไปจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจมารับเอาความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำไปพัฒนาและปรับปรุงหน่วยงานของตนให้ดีขึ้น แต่การสัมมนาไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยคนที่ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรมได้ ถ้าพิจารณาจากข่าวดูว่า นายปัญญา ฤกษ์อุไรผู้ว่า ฯ ตราด จะต้องมีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่าผู้สื่อข่าวไทยรัฐแน่ เพราะนายปัญญามีนิสัยที่ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่และมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย ครั้งที่ผู้ว่าฯ ผู้นี้เป็นเลขานุการของรุ่นในการสัมมนาพัฒนานักบริหารที่โรงแรมภูเก็ตรีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต ท่านก็ได้ใช้อำนาจของท่านในทางที่ผิด จะทำร้ายร่างกายบริกรของโรงแรม ด้วยสาเหตุที่ให้บริการไม่ทันอกทันใจท่านเท่านั้น เพราะนิสัยของนายปัญญาไม่เลิกอะไรที่เป็นนิสัยประจำตัวนี่เองจึงทำให้เกิดคดีที่ว่านี้ โดยเจตนาให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เห็นว่าโจทก์เป็นคนที่มีสันดานและนิสัยที่ชอบประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรมและเป็นผู้ที่ชอบวางอำนาจบาตรใหญ่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้ง ๆ ที่ข้อความดังกล่าวล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 328, 332 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7,8 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4, 48 กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ “มติชน” รายวันในหน้าหลังสุด และในหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” และ “เดลินิวส์” ฉบับละ7 วัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 326, 328 ให้จำคุกคนละ 1 เดือนและปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี กับให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันหน้าหลังสุด มีกำหนด 7 วันติดต่อกัน โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” นอกจากจะระบุถึงชื่อและนามสกุลของโจทก์ด้วยแล้ว ยังลงรูปโจทก์ในคอลัมน์ดังกล่าวด้วยข้อความที่ลงพิมพ์จึงหมายถึงโจทก์เป็นส่วนใหญ่ และข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า โจทก์ประพฤติปฏิบัติตนอย่างคนไร้ศีลธรรม การที่โจทก์ผ่านการสัมมนาหลักสูตรพัฒนานักบริหารไม่ได้ช่วยดัดสันดานและนิสัยของโจทก์ให้กลับตัวกลับใจมีคุณธรรม โจทก์มีส่วนพัวพันเป็นผู้จ้างวานฆ่านายพิชิตผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เพราะโจทก์มีนิสัยชอบวางอำนาจบาตรใหญ่ มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย และใช้อำนาจในทางที่ผิด อำนาจฝ่ายต่ำจึงเข้าครอบงำ ถ้าประเทศมีข้าราชการระดับนักบริหารอย่างโจทก์บ้านเมืองจะไปไม่รอด ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความโจทก์ต่อผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของหนังสือพิมพ์ที่จะพึงกระทำ หรือเป็นการลงข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อความที่ลงพิมพ์ในคอลัมน์ “มองมุมนอก” จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

พระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มาตรา 48 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” และมาตรา 4 ให้คำนิยามว่า “บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคล ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือกหรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการที่ต้องรับผิดเป็นตัวการ ต้องเป็นบรรณาธิการซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์เท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงโฆษณาทั้งหมดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share