คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13967/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร น. ข้อ 2 ระบุว่า สมาชิกหมายถึง สมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายที่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากผู้จัดสรรที่ดินฯ และผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หมายถึง ผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรรฯ และตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินจากผู้จัดสรร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพียงรายเดียว โจทก์ที่ 2 เป็นสามีของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน จึงมิใช่คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย สถานะทางกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 ได้ นอกจากนี้ตามข้อบังคับข้อ 48.1 ระบุว่าให้สมาชิกหรือคู่สมรสตามกฎหมายของสมาชิกมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลเท่านั้น โจทก์ที่ 2 เป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะสมาชิกได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
ข้อบังคับข้อ 47 วรรคสาม ระบุว่า มติของคณะกรรมการนิติบุคคล ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของกรรมการนิติบุคคล คะแนนเสียงของกรรมการนิติบุคคลแต่ละรายไม่ว่าจะมีบ้านในหมู่บ้านกี่หลังมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งเสียง แต่ตามข้อบังคับในหมวดที่ 13 คณะกรรมการนิติบุคคลมิได้ระบุถึงการบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรว่าต้องบันทึกถึงจำนวนกรรมการที่ออกเสียงลงมติว่ามีจำนวนเท่าใด การที่รายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรครั้งที่ 1/2553 และครั้งที่ 1/2554 ระบุแต่เพียงว่าที่ประชุมมีมติให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันในนามนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ ก็ต้องถือว่าเป็นมติคะแนนเสียงข้างมากตามข้อบังคับแล้ว อีกทั้งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อบังคับและพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ตามข้อบังคับหมวดที่ 1 ข้อ 2 การจะให้คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมดลงนามในเอกสารต่าง ๆ เพื่อดำเนินการในกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรย่อมเป็นการยุ่งยาก การที่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีมติให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวมีอำนาจลงนามผูกพันในนามนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ จึงเป็นอำนาจโดยทั่วไปในการบริหารจัดการของคณะกรรมการที่จะกระทำได้ กรณีมิใช่เป็นการมอบอำนาจทั้งหมดของคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแทน จึงหาจำต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนิติบุคคล มติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจึงชอบแล้ว
ตามข้อบังคับข้อ 43 ระบุว่า ในกรณีผู้มีหน้าที่ชำระเงินมีความประสงค์จะขอตรวจหรือสำเนาเอกสารบัญชีหรือรายงานในหมวดนี้ ให้คณะกรรมการนิติบุคคลหรือผู้จัดการนิติบุคคลแล้วแต่กรณี ดำเนินการให้ผู้ขอโดยมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จำเป็น แต่ตามข้อบังคับข้อ 67.2 วรรคสอง ที่จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า ในกรณีค้างชำระค่าสาธารณูปโภคติดต่อกันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ มีอำนาจในการระงับการให้บริการสาธารณะหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค… และบริการอื่นๆ ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และ/หรือคณะกรรมการเห็นสมควรงดให้บริการ ซึ่งขณะที่โจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึงคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขอสำเนาเอกสารข้างต้นเป็นช่วงระยะเวลาเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2554 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรยังมีข้อโต้แย้งกับโจทก์ที่ 1 ในการค้างชำระค่าสาธารณูปโภคประจำปี 2554 ประกอบกับโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นสมาชิกผู้มีหน้าที่ชำระเงิน การที่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรปฏิเสธคำขอของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับอื่น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2553 และครั้งที่ 1/2554 ที่มีมติให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวตกลงหรือลงนามในฐานะผู้มีอำนาจของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมด ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ร่วมกันชดใช้เงินคืนนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรวม 267,329 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้เพิกถอนการแก้ไขข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับข้อ 67 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 โดยให้กลับไปใช้ในข้อความเดิม ให้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 12 ขาดคุณสมบัติในการเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้จำเลยที่ 1 และที่ 12 หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 และที่ 12 ร่วมลงมติทุกครั้ง และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 12 ลงนามหรือร่วมลงนามผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้จำเลยที่ 1 และที่ 12 คืนเงินค่าเบี้ยประชุมหรือเงินค่าดำเนินการใด ๆ ทั้งหมดที่ได้รับจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหลังจากวันที่ 27 มิถุนายน 2554 แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 15 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 12 ด้วย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองรวม 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 จะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสิบหกเปิดเผยข้อมูลรายงานการประชุมใหญ่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทุกครั้งตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน เปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ถึงปัจจุบัน โดยให้ส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสองด้วย หากจำเลยทั้งสิบหกไม่ปฏิบัติตาม ให้จำเลยทั้งสิบหกหยุดการทำงานในฐานะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสิบหก 8,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของโจทก์ที่ 1 และได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ให้ดำเนินคดี โจทก์ที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1703/128 ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 ในหมู่บ้านจัดสรรนันทวัน สุขุมวิท โฉนดเลขที่ 250178 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนันทวัน สุขุมวิท จัดตั้งเมื่อประมาณปลายปี 2547 ต่อมาปี 2553 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และปี 2554 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จำเลยที่ 16 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 วาระที่ 6 เรื่องการเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค และที่ประชุมลงมติให้เพิ่มจากอัตราตารางวาละ 16 บาท ต่อเดือน เป็นตารางวาละ 20 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในฐานะคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมิได้นำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และยังคงเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคในอัตราเดิมต่อไป ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2554 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 และแก้ไขข้อบังคับข้อ 48.1 ให้เฉพาะสมาชิกหรือคู่สมรสตามกฎหมายของสมาชิกเป็นผู้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเท่านั้น กับมีมติแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 15 เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยจำเลยที่ 1 และที่ 12 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิก จำเลยที่ 1 กับพวกเพิกเฉยไม่นำมติเพิ่มอัตราค่าสาธารณูปโภคไปจดทะเบียน ต่อมาที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 มีมติเพิ่มอัตราค่าสาธารณูปโภคจากอัตราตารางวาละ 16 บาท ต่อเดือน เป็นตารางวาละ 21 บาท ต่อเดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ในฐานะคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรปี 2553 มิได้จัดทำงบดุลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองแล้วยื่นต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน แต่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรปี 2555 ส่งงบดุลประจำปี 2553 และปี 2554 ให้แก่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้ว มติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1/2553 และครั้งที่ 1/2554 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการมีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ มติที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 12/2554 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 แต่งตั้งทนายความต่อสู้คดีในอัตราค่าจ้าง 20,000 บาท ในปี 2553 จำเลยที่ 1 กับพวกจ่ายค่าทนายความ 67,062 บาท ค่าซ่อมบำรุงวัสดุและอุปกรณ์สระว่ายน้ำ 80,267 บาท นอกจากนั้นยังจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายทำบุญประจำปีและเลี้ยงสังสรรค์ 120,000 บาท วันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้งดการให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคแก่โจทก์ที่ 1 โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ค้างชำระค่าบริการสาธารณูปโภค
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรนันทวัน สุขุมวิท ข้อ 2 ระบุว่า สมาชิกหมายถึง สมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายที่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากผู้จัดสรรที่ดินฯ และผู้ซื้อที่ดินจัดสรร หมายถึง ผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรรฯ และตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินจากผู้จัดสรร โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพียงรายเดียว โจทก์ที่ 2 เป็นสามีของโจทก์ที่ 1 แต่เป็นคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียน จึงมิใช่คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย สถานะทางกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อใช้สิทธิของโจทก์ที่ 1 ได้ นอกจากนี้ตามข้อบังคับข้อ 48.1 ระบุว่าให้สมาชิกหรือคู่สมรสตามกฎหมายของสมาชิกมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลเท่านั้น โจทก์ที่ 2 เป็นคู่สมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะสมาชิกได้ อีกทั้งตามข้อบังคับ ได้กำหนดความหมายของสมาชิกหมู่บ้านไว้คือ 1. ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร 2. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ 3. ผู้จัดสรรที่ดินเฉพาะกรณีที่ดินแปลงย่อยที่ยังไม่มีผู้ใดซื้อ ส่วนที่จำเลยที่ 16 ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหนังสืองดการให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคก็มิได้กล่าวอ้างพาดพิงถึงโจทก์ที่ 2 คงระบุถึงโจทก์ที่ 1 ในฐานะสมาชิกเท่านั้น ประกอบกับความเสียหายเกิดจากการงดการให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภคตามที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างมิได้เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 2 โดยตรง โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรครั้งที่ 1/2553 และครั้งที่ 1/2554 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับข้อ 47 วรรคสาม ระบุว่า มติของคณะกรรมการนิติบุคคล ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของกรรมการนิติบุคคล คะแนนเสียงของกรรมการนิติบุคคลแต่ละรายไม่ว่าจะมีบ้านในหมู่บ้านกี่หลังมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งเสียง แต่ตามข้อบังคับในหมวดที่ 13 คณะกรรมการนิติบุคคลมิได้ระบุถึงการบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรว่าต้องบันทึกถึงจำนวนกรรมการที่ออกเสียงลงมติว่ามีจำนวนเท่าใด การที่รายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรครั้งที่ 1/2553 และครั้งที่ 1/2554 ระบุแต่เพียงว่าที่ประชุมมีมติให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันในนามนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ ก็ต้องถือว่าเป็นมติคะแนนเสียงข้างมากตามข้อบังคับแล้ว อีกทั้งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของข้อบังคับและพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ตามข้อบังคับหมวดที่ 1 ข้อ 2 การจะให้คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทั้งหมดลงนามในเอกสารต่าง ๆ เพื่อดำเนินการในกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรย่อมเป็นการยุ่งยาก การที่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีมติให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวมีอำนาจลงนามผูกพันในนามนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ จึงเป็นอำนาจโดยทั่วไปในการบริหารจัดการของคณะกรรมการที่จะกระทำได้ กรณีมิใช่เป็นการมอบอำนาจทั้งหมดของคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแทน จึงหาจำต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับข้อ 49 ตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาไม่ ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ นอกเหนือจากที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมอบหมาย อันจะเป็นเหตุใดต้องเพิกถอนการกระทำที่จำเลยที่ 1 กระทำไว้ ดังนั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยทั้งสิบหกต้องเปิดเผยข้อมูลรายงานการประชุมใหญ่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร บัญชีรายรับ – รายจ่าย พร้อมงบดุลของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน โดยทำสำเนาเอกสารให้แก่โจทก์ที่ 1 และต้องชำระค่าเสียหายในการติดตามคัดถ่ายเอกสารจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วย หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับข้อ 43 ระบุว่า ในกรณีผู้มีหน้าที่ชำระเงินมีความประสงค์จะขอตรวจหรือสำเนาเอกสารบัญชีหรือรายงานในหมวดนี้ ให้คณะกรรมการนิติบุคคลหรือผู้จัดการนิติบุคคลแล้วแต่กรณี ดำเนินการให้ผู้ขอโดยมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จำเป็น แต่ตามข้อบังคับข้อ 67.2 วรรคสอง ที่จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ระบุว่า ในกรณีค้างชำระค่าสาธารณูปโภคติดต่อกันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป ให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ มีอำนาจในการระงับการให้บริการสาธารณะหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค… และบริการอื่นๆ ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และ/หรือคณะกรรมการเห็นสมควรงดให้บริการ ซึ่งขณะที่โจทก์ที่ 2 มีหนังสือถึงคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขอสำเนาเอกสารข้างต้นเป็นช่วงระยะเวลาเดือนกันยายนและเดือนพฤศจิกายน 2554 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรยังมีข้อโต้แย้งกับโจทก์ที่ 1 ในการค้างชำระค่าสาธารณูปโภคประจำปี 2554 ประกอบกับโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นสมาชิกผู้มีหน้าที่ชำระเงิน การที่คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรปฏิเสธคำขอของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับอื่น โจทก์ที่ 1 จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งสิบหกตามที่ฎีกาหาได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสิบหก 8,000 บาท

Share