คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5251/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ร่วมตามราคาในสลาก จำเลยย่อมมีอิสระที่จะขายสลากแก่ผู้ใดในราคาใดหรือราคาสูงกว่าราคาในสลากก็ได้ โจทก์ร่วมหาได้สนใจการจำหน่ายของจำเลยไม่ คงคำนึงแต่เพียงว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าสลากมาชำระให้เท่านั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยขายสลากอย่างเป็นของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ และการที่มีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน30 บาท ต่อการขายสลาก 1 เล่ม ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่นำเงินค่าสลากมาชำระให้โจทก์ร่วมจึงเป็นเรื่องผิดข้อตกลงในทางแพ่ง มิใช่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 249,890 บาท แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณานายสินชัย นิลรัตน์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งโจทก์อ้างบทมาตราในคำขอท้ายฟ้องเป็นมาตรา 358 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบได้สมกับที่บรรยายฟ้องย่อมลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำคุก 2 ปี ให้จำเลยใช้เงินาจำนวน 249,890 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยรับสลากกินแบ่งรัฐบาลจากโจทก์ร่วมไปขายหรือไม่ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อแรกโจทก์มีตัวโจทก์ร่วม นางอัมพร จ่างผล นายฮุ้น นิ่มสำเภา นางส้มแป้นจิรมณี เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นตัวแทนขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ร่วม โดยติดต่อนำสลากไปขายตั้งแต่สมัยนายง้วงบิดาของโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกิจการจนถึงเกิดเหตุนานประมาณ 3 ปี พยานโจทก์ทั้งสามก็เป็นตัวแทนขายสลากโดยมารับจากโจทก์ร่วมไปขายเช่นเดียวกับจำเลย ในการนำสลากไปขายมีข้อตกลงกันว่า ถ้าขายสลากไม่หมดจะต้องนำสลากมาคืนให้โจทก์ร่วมก่อนวันออกสลาก 1 วัน พร้อมกับเงินที่ขายได้ถ้าขายสลากหมดจะต้องนำเงินมาชำระในวันออกสลาก โจทก์ร่วมจะให้ค่าตอบแทนในการขายเล่มละ 30 บาท เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529จำเลยมารับสลากไปขายตามปกติรวม 121 เล่ม จำนวน 12,456 ฉบับเป็นเงิน 289,120 บาท ต่อมาจำเลยนำเงินค่าสลากมาขำระให้ 3 ครั้งรวมเป็นเงิน 33,000 บาท จำเลยบอกว่าขายสลากหมดแล้วจะนำเงินที่เหลือมาชำระให้โจทก์ร่วมในวันที่ 16 สิงหาคม 2529 ซึ่งเป็นวันออกสลาก เห็นว่านางอัมพร นายฮุ้นและนางส้มแป้นพยานโจทก์เป็นผู้ติดต่อค้าขายสลากกับโจทก์ร่วมและเบิกความเกี่ยวกับวิธีการนำสลากจากโจทก์ร่วมไปขายในทำนองเดียวกัน พยานทั้งสามไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน น่าเชื่อว่าจำเลยก็ได้ติดต่อค้าขายกับโจทก์ร่วมอย่างเดียวกับที่พยานโจทก์ทั้งสามปฏิบัติต่อโจทก์ร่วมหาใช่จำเลยซื้อสลากพิพาทไปจากโจทก์ร่วมดังที่จำเลยนำสืบไม่ปัญหาข้อต่อไปเห็นว่า แม้โจทก์ร่วมจะมอบหมายให้จำเลยขายสลากตามราคาในสลากตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบก็ตามแต่จำเลยก็ย่อมมีอิสระที่จะขายสลากแก่ผู้ใด ในราคาใด หรือราคาสูงกว่าราคาในสลากก็ได้ โจทก์ร่วมหาได้สนใจการจำหน่ายของจำเลยไม่ คงคำนึงแต่เพียงว่าเมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้จำเลยนำเงินค่าสลากมาชำระให้เท่านั้น กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่จำเลยขายสลากอย่างเป็นของตนเองหาใช่เป็นตัวแทนไปขานในนามของโจทก์ร่วมไม่ และการที่มีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 30 บาท ต่อการขายสลาก 1 เล่มก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไปดังนั้นเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่นำเงินค่าสลากมาชำระให้โจทก์ร่วมจึงเป็นเรื่องผิดข้อตกลงในทางแพ่ง หาเป็นความผิดในทางอาญาฐานยักยอกดังที่โจทก์ฟ้องไม่…”
พิพากษายืน.

Share