คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 โดยก่อนจะมีการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 2 รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรก คือ พฤติการณ์ที่ลุงของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็ค แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไป จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกัน อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนวนแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่า หนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์
โจทก์ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดิน เขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์และสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 926,250 บาท พร้อมกับมอบหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวคืนจากโจทก์อ้างว่าจะนำห้องชุดไปจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระ โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2542 โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนขายห้องชุดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 นำห้องชุดไปจำนองแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และเพิกถอนการจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันว่า การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์ทราบและยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปจำนองหรือโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2540 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองห้องชุดไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ให้กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่ทั้งนี้ไม่กระทบสิทธิการรับจำนองของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า เมื่อประมาณต้นปี 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 926,250 บาท โดยมอบหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด เลขที่ 5/62 ชั้น 1 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุด พี.เอ.คอนโด ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดคืนจากโจทก์อ้างว่าจะนำไปจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงมอบหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดคืนให้จำเลยที่ 1 ไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระหนี้โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ วันที่ 13 ตุลาคม 2541 ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้แก่จำเลยที่ 3 จำนวน 270,000 บาท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2540 ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและทำสัญญาขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน แล้วจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่จำเลยที่ 3 จำนวนเงิน 290,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 เป็นการทำนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ อันจะเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า ก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากจำเลยที่ 2 รวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 597,000 บาท ภายหลังจากเช็คถึงกำหนดชำระวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 จำเลยที่ 2 นำเช็คทั้งสิบฉบับไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 1 จึงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 นอกจากนี้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน การที่ทั้งสองคนรู้จักกันได้ความจากนายวิชัย ลิวาภรณ์ ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 2 เป็นคนแนะนำ โดยนายวิชัยเบิกความว่าในครั้งแรกจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คมาขอแลกเงินสดจากพยานก่อนแต่พยานอ้างว่าไม่มีอาชีพปล่อยเงินกู้ จึงพาจำเลยที่ 1 ไปแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รับเช็คไว้ถึง 10 ฉบับ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าไม่เคยมีอาชีพปล่อยเงินกู้อีกทั้งไม่เคยรับแลกเช็ค เพิ่งทำครั้งนี้เป็นครั้งแรก การที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 จึงผิดปกติวิสัยหลายประการ ประการแรกคือ พฤติการณ์ของนายวิชัยซึ่งไม่กล้าให้จำเลยที่ 1 แลกเช็คแต่แนะนำให้จำเลยที่ 1 นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของตนเอง ประการต่อมาเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเงินสดทั้งสิบฉบับล้วนเป็นเช็คของคนอื่น ไม่ใช่เช็คของจำเลยที่ 1 และเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแทนที่จำเลยที่ 2 จะรีบนำเช็คแต่ละฉบับไปเรียกเก็บเงินทันที กลับปล่อยเวลาล่วงเลยไปจนถึง 6 พฤษภาคม 2541 จึงเพิ่งนำไปเรียกเก็บเงินพร้อมกัน และในวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองต่อจำเลยที่ 3 ในวันเดียวกันอีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ทำบันทึกว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับโอนห้องชุดดังกล่าวชำระหนี้ตามเช็คทั้งสิบฉบับ รวมเป็นเงิน 597,100 บาท และหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่จำเลยที่ 2 รับโอนมีราคาประมาณ 400,000 บาท อีกทั้งยังจำนองแก่จำเลยที่ 3 เป็นประกันหนี้อยู่ประมาณ 270,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์แล้วจึงยังต้องรับภาระชำระหนี้จำนองดังกล่าวด้วย แต่จำเลยที่ 2 กลับทำบันทึกว่าหนี้ที่เหลือไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ทั้งช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 รับแลกเช็คจากจำเลยที่ 1 และทำสัญญารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด อยู่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ และจำเลยที่ 2 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าว จึงเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโดยรู้ว่าจะเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษา ในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความยืนยันว่า ได้ไปตรวจสอบเอกสารกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่สำนักงานที่ดินเขตลาดพร้าว วันที่ 2 มีนาคม 2542 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนคือวันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้อง จึงเป็นระยะเวลาไม่พ้นหนึ่งปีคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายห้องชุด เลขที่ 5/62 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share