คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 คดีก่อนต้องถึงที่สุดแล้ว ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ ขณะคดีแพ่งเรื่องก่อนยังไม่ถึงที่สุดเพราะคดีดังกล่าวยังไม่มีการอ่านคำพิพากษา ศาลฎีกาให้คู่ความฟัง ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้พินัยกรรมของนางสาวพยอม ฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 และพินัยกรรมของนางสาวสนอม ฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 เป็นพินัยกรรมปลอมและเป็นโมฆะ กับข้อความในพินัยกรรมเป็นโมฆะทั้งพินัยกรรมไร้ผลไม่มีผลบังคับตามข้อความที่กำหนดในพินัยกรรม
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า พินัยกรรมของนางสาวพยอมและนางสาวสนอมได้จัดทำตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกทั้งสองคนโดยได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการทุกประการ ข้อกำหนดที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย มีการจัดทำโดยปลัดอำเภอผู้มีอำนาจเป็นผู้สอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการทำพินัยกรรมด้วยตนเอง การลงชื่อหรืออ่านทบทวนให้เจ้ามรดกฟังถึงความถูกต้องได้กระทำต่อหน้าพยาน ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำพินัยกรรมทั้งสองฉบับปลอมขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเข้ารับมรดกของผู้ตายนั้น โจทก์เคยยกขึ้นอ้างไว้ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2538 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537ของศาลชั้นต้น ในคดีดังกล่าวโจทก์อ้างว่าเจ้ามรดกทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในขณะที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ได้ยอมรับว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับเจ้ามรดกเป็นผู้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจริงข้อความที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ทำปลอมขึ้นจึงเป็นเท็จ สำหรับประเด็นเรื่องพินัยกรรมเป็นโมฆะนั้นเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีสองสำนวนดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับสมบูรณ์ตามกฎหมาย คดีทั้งสองอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ก่อนมีการสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วแถลงรับกันว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2540 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2540 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2540 ที่ทนายจำเลยส่งศาลเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ถูกต้องตรงกับต้นฉบับที่เก็บไว้ที่ศาลชั้นต้นและเห็นว่า คำฟ้อง คำให้การและเอกสารในสำนวนพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2538 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537ของศาลชั้นต้นแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537 ของศาลชั้นต้น มีนายสุพจน์ ภักดีสมบัติเป็นผู้ร้องที่ 1 โจทก์คดีนี้เป็นผู้ร้องที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสนอม ไทยานนท์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2คดีนี้ ยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2540 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2540โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่23 พฤษภาคม 2540 ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2538ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้เป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพยอม ไทยานนท์ ผู้ตายตามที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรมโจทก์คดีนี้ และนายสุพจน์ ภักดีสมบัติ ยื่นคำร้องคัดค้านศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องทั้งสอง (จำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้)เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2540 ลงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2540 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2540 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวในทำนองเดียวกันว่า ผู้ตายทั้งสองได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจริง ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายทั้งสองมีสติสัมปชัญญะดี และได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรมตามความประสงค์ด้วยความสมัครใจ พินัยกรรมทั้งสองฉบับจึงเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 334/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติว่า”คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่ากรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำนั้นคดีก่อนต้องถึงที่สุดแล้ว เมื่อได้ความว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2540 แต่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537 และที่ 334/2538 ของศาลชั้นต้น ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 25 เมษายน 2540 ตามลำดับ จึงถือว่าคดีทั้งสองสำนวนถึงที่สุดในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้นขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 307/2537และที่ 334/2538 ของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ กับคดีดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่

Share