คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขายสุราแช่ 1 ถุง ที่จำเลยทำขึ้นเองและมีไว้ในครอบครองจำนวน 2 โอ่ง ปริมาตร 220 ลิตร โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นน้ำสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้ขายสุราที่จำเลยทำขึ้นนั้นด้วย ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 30 และโจทก์ก็ได้ระบุมาในคำขอท้ายฟ้องแล้วโจทก์มิได้ฟ้องและประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานขายสุรารู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 5 อันเป็นความผิดตามมาตรา 31 โจทก์จึงไม่จำต้องระบุมาตรา 31 มาในคำขอท้ายฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำ มีและขายสุราแช่ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32, 45 และริบของกลางจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราฯ มาตรา 5, 30, 32 ฐานทำสุราแช่ ปรับ 200 บาทฐานมีสุราแช่ ปรับ 500 บาท ฐานขายสุราแช่ที่จำเลยทำขึ้น จำคุก1 เดือน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 3 ปี ของกลางริบจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำขอท้ายฟ้องมิได้ระบุมาตรา 31จึงลงโทษไม่ได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดฐานขายสุรา โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าศาลจะลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานขายสุราแช่ ที่จำเลยทำขึ้นตามฟ้องข้อ ค.ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาในข้อ ค.ว่า จำเลยขายสุราแช่ซึ่งจำเลยได้ทำขึ้นเอง จำนวน 2 โอ่งปริมาตร 220 ลิตร ที่จำเลยทำและมีไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้ขายสุราที่จำเลยทำขึ้นนั้นด้วย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 30 และโจทก์ก็ได้ระบุมาในคำขอท้ายฟ้องแล้วโจทก์มิได้ฟ้องและประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 5 อันเป็นความผิดตามมาตรา 31 ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงไม่จำต้องระบุมาตรา 31 มาในคำขอท้ายฟ้องแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอุทธรณ์มาว่าจำเลยได้ขายสุราที่จำเลยทำขึ้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาล”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share