คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างที่องค์การสุรากรมสรรพสามิตจะต้องจ่ายให้แก่จำเลยเป็นสิทธิเรียกร้องที่พึงโอนให้แก่กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา303จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินจำนวนดังกล่าวไปยังผู้ร้องก่อนวันที่จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างโจทก์และก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดไปยังองค์การสุรากรมสรรพสามิตถึงสองปีเศษทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้ปฏิบัติครบถ้วนและถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา306แล้วสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินค่าจ้างเหมาได้ตกเป็นของผู้ร้องและขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลยแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลอายัดเงินจำนวนดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับพร้อมกับยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉิน ตามมาตรา 254 ประกอบด้วยมาตรา 266 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยจะได้รับจากองค์การสุรากรมสรรพสามิต ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2534 ธนาคารแหลมทองจำกัด ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวข้างต้นโดยอ้างว่าเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดนั้นเป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาจากองค์การสุรานั้นจำเลยได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2532 ศาลทำการไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินที่โจทก์อายัดไว้เป็นเงินขององค์การสุรา กรมสรรพสามิต เงินของผู้ร้อง หรือเงินของจำเลยเห็นว่า เงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างที่องค์การสุรา กรมสรรพสามิตจะต้องจ่ายให้แก่จำเลยนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่พึงโอนให้แก่กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยไปยังผู้ร้องตั้งแต่วันที่3 ตุลาคม 2532 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จำเลยจะได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์และก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเป็นยังองค์การสุรา กรมสรรพสามิตถึงสองปีเศษ ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ได้ปฏิบัติครบถ้วนและถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แล้วสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินค่าจ้างเหมาได้ตกเป็นผู้ร้องและขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะขอให้ศาลอายัดเงินจำนวนนี้ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่องค์การสุรา กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือยินยอมในการที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.8 องค์การสุรา กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือแจ้งความจำนงโดยมีเงื่อนไขนั้น เห็นว่า ที่องค์การสุรา กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือยินยอมด้วยนั้น มิได้มีเงื่อนไขแต่อย่างใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญากับองค์การสุรากรมสรรพสามิต องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ก็จะไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ร้องได้เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่มีต่อองค์การสุรา กรมสรรพสามิต อยู่แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญากับองค์การสุรา กรมสรรพสามิตจนถึงกับเป็นเหตุให้องค์การสุรา กรมสรรพสามิต จะไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยหรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยแต่อย่างใดดังนั้นผู้ร้องในฐานะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากจำเลยจึงมีสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์อายัดไว้ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share