คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่ ม. เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่า ม. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของ ม. เพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนในการฟ้องคดี โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดได้
โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ที่ 1 หนังสือมอบอำนาจ ย. ผู้ว่าการของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แทน โจทก์ที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้างว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ม. อันเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2
เมื่อพิจารณาการทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบห้าแล้ว เห็นว่า จำเลยแต่ละกลุ่มแต่ละรายได้เข้าไปอยู่อาศัยหรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่พิพาทตามจำนวนเนื้อที่มากน้อยแตกต่างกันคนละเวลา จึงเป็นความรับผิดเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด จึงต้องกระจายความรับผิดของจำเลยแต่ละกลุ่มแต่ละรายโดยอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีในการกำหนดค่าเสียหายทางละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารออกไปจากที่พิพาทกับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและแท่งปูนออกไปจากที่พิพาทและส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสิบห้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปและให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 733,534.71 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 815,038.58 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบห้าและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสิบห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารออกไปจากที่พิพาท ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งแท่งปูนออกจากที่พิพาท กับส่งมอบพื้นที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ในอัตราเดือนละ 60,038.58 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบห้าและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งแท่งปูนออกไปจากที่พิพาทเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินวันละ 5,000 บาท หรือเดือนละ 150,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันชำระเงินวันละ 3,000 บาท หรือเดือนละ 90,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงินวันละ 1,500 บาท หรือเดือนละ 45,000 บาท และให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 14 แต่ละคนชำระเงินวันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยแต่ละรายจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายบริวารออกไปจากที่พิพาท กับให้จำเลยทั้งสิบห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 15 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่านพหลโยธิน ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินเนื้อที่ 5,068.08 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมาโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาเช่าที่ดินเพิ่มเติมจากโจทก์ที่ 1 อีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่ 3,032.25 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกและเป็นที่จอดรถยนต์สำหรับที่ดินที่เช่าแปลงแรก โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ เนื่องจากมีจำเลยทั้งสิบห้าเข้าไปอยู่อาศัยรวมทั้งก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่พิพาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าและบริวารออกจากที่พิพาท ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทและส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไปและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 นั้น โจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 14 ไม่ฎีกา คดีสำหรับโจทก์ที่ 1 และจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงมีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 15
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ฎีกาประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ โจทก์ที่ 2 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 15 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับนายมนัส จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 อ้างข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิมาจากการที่นายมนัสเช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แล้วสืบสิทธิต่อเนื่องกันมา แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 มิได้มีหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาเช่าหรือหลักฐานการชำระเงินค่าเช่ามาแสดง ทั้งยังได้ความว่านายมนัสถึงแก่ความตายแล้ว สิทธิการเช่าที่พิพาทย่อมสิ้นสุดลง การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ไม่มีหลักฐานการเช่าของนายมนัสประกอบกับนายมนัสถึงความตายไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 จึงไม่อาจที่จะอ้างการสืบสิทธิของนายมนัสเพื่ออยู่ในที่พิพาทต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ใช้สิทธิแห่งตนโดยการฟ้องคดีนี้ โดยมีโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทร่วมฟ้องขับไล่มาด้วย จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนที่มีอยู่เพื่อขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ผู้กระทำละเมิดจะฟังว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เป็นผู้เสียหายและไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ยอมเสี่ยงภัยเข้าทำสัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โดยทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นสามีภริยากันยอมรับว่า ได้เช่าช่วงที่ดินมาจากนายมนัส เพื่อประกอบกิจการล้างรถ ส่วนจำเลยที่ 5 ประกอบกิจการติดฟิล์มกรองแสง โดยมีจำเลยที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 เป็นลูกจ้างทำงานในร้าน เมื่อนายมนัสผู้ให้เช่าเป็นผู้เช่าที่พิพาทจากโจทก์ที่ 1 แต่ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเช่าหรือหลักฐานการชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่ามาแสดงเพื่อยืนยันสิทธิการเช่าที่นายมนัสมีอยู่ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว การเช่าของนายมนัสตามที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 กล่าวอ้าง จึงเป็นกรณีอาศัยสิทธิของนายมนัสที่มีอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 โดยชอบ โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในที่พิพาท จึงอยู่ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำละเมิดนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิในกรณีที่ผู้เช่าไม่สามารถเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และมาตรา 549 จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในผลแห่งละเมิดตามพฤติการณ์ความร้ายแรงให้แก่โจทก์ที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 13 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลมาอย่างละเอียดแล้ว ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 ประการแรกที่ว่า ศาลอุทธรณ์คิดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยคำนวณตามที่จำเลยแต่ละรายกระทำละเมิดในแต่ละพื้นที่นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทตามสัญญาเช่าจากโจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 2 ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้โดยต้องเสียค่าเช่า 60,038.58 บาทต่อเดือน หรือปีละ 720,463 บาท โจทก์ที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบห้า แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละรายจะเห็นได้ว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 15 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับนายมนัส จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 15 ได้ร่วมกันเข้าไปครอบครองทำประโยชน์และแสวงหาประโยชน์ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ส่วนจำเลยอื่นนอกจากนี้เพียงแต่เข้าไปอยู่อาศัยหรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่พิพาทตามจำนวนเนื้อที่มากน้อยแตกต่างกันคนละวันเวลาจึงต่างเป็นความรับผิดเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ไม่ได้ร่วมกันทำละเมิด จึงต้องกระจายความรับผิดของจำเลยแต่ละกลุ่มแต่ละรายซึ่งจำต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละกลุ่มแต่ละรายเป็นหลักสำหรับกำหนดค่าเสียหายทางละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยอาศัยหลักกระจายความรับผิดของผู้ทำละเมิดตามพฤติการณ์ที่แต่ละกลุ่มแต่ละรายกระทำนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share