แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 แต่เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอยู่ก่อนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 อยู่ในทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อวินิจฉัยปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่ชอบ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์ มีลักษณะเป็นแถบเส้นในแนวนอน 3 เส้น เรียงซ้อนกันขึ้นไปด้านบน โดยเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นและเฉียงขึ้นทำมุมในระดับ 30 องศา คล้ายกับอักษรโรมัน ตัว “E” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเส้นทึบในแนวตั้ง 3 เส้น เรียงซ้อนต่อกันไปทางด้านข้างโดยทุกแถบเส้นจะเอียงมาทางด้านหน้าและเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นคล้ายอักษรโรมัน ตัว “M” และมีคำว่า “Mahajak” อยู่ด้านล่างของแถบเส้น รูปลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีคำว่า “Mahajak” ประกอบอยู่กับภาพประดิษฐ์ จึงออกเสียงเรียกขานได้ว่า มหาจักร ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในช่องคำอ่านและแปลภาษาต่างประเทศเพียงว่า อักษรโรมันสัญลักษณ์ตัว “อี” แปลไม่ได้ เป็นอักษรย่อส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทคือคำว่า “อีริคสัน” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุเสียงเรียกขานไว้ แต่เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยมีคำสั่งให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุดกับคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์ และโจทก์ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว ปรากฏว่ารูปลักษณะเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์เช่นเดียวกับภาพประดิษฐ์ในคดีนี้ บางคำขอจดทะเบียนเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ “ERICSSON” ดังนั้นจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อาจเรียกขานได้ว่า อีริคสัน อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์ เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ประกอบกับรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น มีรายการเดียวคือ มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ส่วนรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เฉพาะที่จำเลยอุทธรณ์คือ สายเคเบิลไฟฟ้า ลวดไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก แม้เป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันแต่รายการสินค้าและลักษณะการใช้งานของสินค้าแตกต่างกันกล่าวคือ สินค้าตามรายการสินค้าของโจทก์เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้ามิใช่อุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้าดังเช่นสินค้าตามรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ย่อยาว
บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่างๆ ที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายแห่งประเทศสวีเดน ได้มอบอำนาจให้นายจิรัสย์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจจำเลยเป็นส่วนราชการมีชื่อว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมตามสำเนาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2542 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2545 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูป ใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้าได้แก่ เครื่องกลไกอิเล็กทรอนิกส์ระบบป้อนคำสั่งควบคุมการสื่อสาร อุปกรณ์เครื่องสื่อสารที่มีหน้าที่แปลงสัญญาณจากดาวเทียม ดาวเทียมสื่อสารเพื่อการโทรคมนาคม เครื่องชั่งน้ำหนัก อุปกรณ์ของเครื่องชั่ง เครื่องวัดระยะทาง เครื่องใช้สัญญาณเตือนภัย เครื่องควบคุมการตรวจสอบวัตถุ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องรับ/ส่ง ถอดสัญญาณเสียงและภาพ เครื่องรวบรวมข้อมูลคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แผ่นกันแดดใช้กับแว่นตา แบตเตอรี่โทรศัพท์ความถี่ต่ำ เครื่องส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ สายเคเบิลไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก ลวดไฟฟ้า เครื่องส่งสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำ เครื่องส่งสัญญาณความถี่สูง เครื่องส่งสัญญาณแม่ข่ายภาพและเสียง เครื่องอุปกรณ์เรดาร์ เครื่องคำนวณรหัสตัวเลข อุปกรณ์ของเครื่องคำนวณรหัสตัวเลข เครื่องถอดรหัส อุปกรณ์ของเครื่องถอดรหัส เครื่องแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เครื่องกราดตรวจวัตถุ (สแกนเนอร์) เสาอากาศ โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อจำเลยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 717996 ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอ้างเหตุว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามสำเนาหนังสือแจ้งคำสั่งนายทะเบียน นอกจากนี้นายทะเบียนยังมีคำสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอีกหลายรายการ โดยให้แก้ไขรายการสินค้าและให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าชุดกับคำขอจดทะเบียนอื่นๆ ของโจทก์อีกหลายคำขอ โจทก์ได้ดำเนินการตามที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้แก้ไขแล้วทั้งสิ้น แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนกรณีที่มีคำสั่งว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว ตามคำขอเลขที่ 403411 ทะเบียนเลขที่ ค 161910 และคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 โจทก์จึงได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ตามสำเนาคำอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2556 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปเส้นแถบพื้นทึบในลักษณะวางเรียงซ้อนกัน 3 เส้น เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว แม้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วจะมีคำว่า “Mahajak” ประกอบอยู่ด้วย แต่เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขานเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่าตรารูปเส้นแถบ ส่วนเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว อาจเรียกขานได้ว่าตรารูปเส้นแถบ หรือมหาจักรนับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 356/2556 และหนังสือแจ้ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 717996 คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 27 ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนั้น นายทะเบียนเห็นว่า (1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว หรือ (2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ถ้าเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 แต่เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 403411 ทะเบียนเลขที่ ค 161910 ได้ระบุว่า ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอยู่ก่อนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 อยู่ในทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อวินิจฉัยปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น คงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนเลขที่ ค 156938 ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่เท่านั้น ในปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์รูปเส้นแถบจำนวน 3 เส้น แต่เพียงอย่างเดียวไม่มีอักษรโรมันกำกับอยู่ด้วย สาธารณชนไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะอ่านออกเสียง อี ซึ่งเป็นอักษรย่อของคำว่า อีริคสัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อโจทก์ แต่อาจเรียกขานได้ว่า ตรารูปแถบเส้น เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 ซึ่งเป็นรูปแถบเส้นเช่นเดียวกัน แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในการจัดเรียงซ้อนกัน และอักษรโรมันมีขนาดเล็กกว่าภาคส่วนรูปแถบเส้นอย่างเห็นได้ชัด จึงมีรูปลักษณะที่ปรากฏและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวก 9 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าโดยมีสินค้าสายเคเบิลไฟฟ้า ลวดไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสินค้ามิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ของเครื่องหมายการค้าตามสาธารณชนอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และหลักฐานการโฆษณาสินค้ายังไม่เพียงพอให้ถือเป็นการใช้เครื่องหมายมาเป็นเวลานานหรือมีชื่อเสียงแพร่หลายแล้วในประเทศไทย คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้วนั้น เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์ มีลักษณะเป็นแถบเส้นในแนวนอน 3 เส้น เรียงซ้อนกันขึ้นไปด้านบน โดยเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นและเฉียงขึ้นทำมุมในระดับ 30 องศา คล้ายกับอักษรโรมัน ตัว “E” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเส้นทึบในแนวตั้ง 3 เส้น เรียงซ้อนต่อกันไปทางด้านข้างโดยทุกแถบเส้นจะเอียงมาทางด้านหน้าและเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นคล้ายอักษรโรมัน ตัว “M” และมีคำว่า “Mahajak” อยู่ด้านล่างของแถบเส้น รูปลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนที่ ค 156938 อย่างชัดเจน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีคำว่า “Mahajak” ประกอบอยู่กับภาพประดิษฐ์ จึงออกเสียงเรียกขานได้ว่า มหาจักร ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 717996ในช่องคำอ่านและแปลภาษาต่างประเทศเพียงว่า อักษรโรมันสัญลักษณ์ตัว “อี” แปลไม่ได้ เป็นอักษรย่อส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทคือคำว่า “อีริคสัน” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุเสียงเรียกขานไว้ แต่เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยมีคำสั่งให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุดกับคำขอจดทะเบียนอื่นๆ ของโจทก์คือ คำขอเลขที่ 406946, 406951, 406952, 406953, 406954, 464902, 589334, 589339, 589340, 589341, 589342, 718001, 718002, 718003, 718004 และ 718005 ตามสำเนาคำสั่งของนายทะเบียน และโจทก์ดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนแล้ว ตามสำเนาหนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายชุด ปรากฏว่ารูปลักษณะเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนอื่นๆ ของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์เช่นเดียวกับภาพประดิษฐ์ในคดีนี้ บางคำขอจดทะเบียนเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ “ERICSSON” ตามสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน คำขอเลขที่ 44902 ทะเบียนเลขที่ ค 154406 คำขอเลขที่ 406946 ทะเบียนเลขที่ ค 149975 คำขอเลขที่ 589334 ทะเบียนเลขที่ ค 250500 และคำขอเลขที่ 758770 ทะเบียนเลขที่ ค 335483 แผ่นที่ 1 แผ่นที่ 3 แผ่นที่ 5 และแผ่นที่ 7 ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 717996 อาจเรียกขานได้ว่า อีริคสัน อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่นๆ ของโจทก์ เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 ประกอบกับรายการสินค้าตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 มีรายการเดียวคือ มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ส่วนรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เฉพาะที่จำเลยอุทธรณ์คือ สายเคเบิลไฟฟ้า ลวดไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก แม้เป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันแต่รายการสินค้าและลักษณะการใช้งานของสินค้าแตกต่างกันกล่าวคือ สินค้าตามรายการสินค้าของโจทก์เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้ามิใช่อุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้าดังเช่นสินค้าตามรายการสินค้าตามคำขอเลขที่ 403413 ทะเบียนเลขที่ ค 156938 เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 717996 จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้รับจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และไม่จำต้องพิจารณาหลักฐานการโฆษณาสินค้าของโจทก์ว่าเพียงพอให้ถือเป็นการใช้เครื่องหมายการค้ามาเป็นเวลานานหรือมีชื่อเสียงแพร่หลายแล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงไม่ชอบ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ