คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า ‘ฝ่ายภรรยาจะไม่ประพฤติตัวให้ผิดจารีตประเพณีและให้อยู่กินปรนนิบัติในฐานะให้เป็นสามีภรรยาอยู่กินร่วมกันตลอดไปและจะไม่ประพฤติปฏิบัตินอกใจสามีอีกต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระทำผิดพลาดเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท’ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติของภรรยาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8) ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าภรรยาได้ หากผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ และไม่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายใด ๆ อีกทั้งมิได้เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต่อมาโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสก็ได้ยอมรับสัญญาฉบับนี้ให้มีผลผูกพันบังคับระหว่างกันได้ สัญญาฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2521 โจทก์และจำเลยแต่งงานอยู่กินตามประเพณี และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2523 ได้จดทะเบียนสมรสกัน ระหว่างที่อยู่กินกันนั้น จำเลยได้ด่าว่าหมิ่นประมาทเหยียดหยามโจทก์และบิดามารดาโจทก์อย่างร้ายแรงเป็นประจำ ทั้งประพฤติชั่วอยู่เสมอ ชอบเที่ยวเตร่ในยามวิกาลกับชายอื่นซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้า ถูกเกลียดชังจากผู้อื่นไม่ยอมให้ร่วมประเวณีตามปกติวิสัยของสามีภรรยาทั่วไป สุดที่โจทก์จะอยู่เป็นสามีภรรยากับจำเลยโดยจำเลยมีชู้และทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรง เนื่องจากความประพฤติของจำเลยดังกล่าว โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญากันไว้ว่า หากจำเลยประพฤติผิดจารีตประเพณีไม่ปฏิบัติตนเป็นภรรยาที่ดีของสามี จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 50,000บาท จำเลยได้ประพฤติผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงเรียกร้องค่าปรับจากจำเลยตามสัญญา จำเลยไม่ยินยอม ขอศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยา หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนการหย่าให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาท

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์และบิดามารดาของโจทก์ ไม่เคยประพฤติชั่วนอกใจโจทก์ จำเลยเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยครูมหาสารคาม โจทก์ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูจำเลย โจทก์ไปติดพันหญิงอื่นจึงหาเหตุฟ้องจำเลย จำเลยไม่เคยทำผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ 50,000 บาทจากจำเลยได้ จำเลยไม่เคยมีชู้ สัญญาพิพาททำขึ้นในขณะที่ยังมิได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยโจทก์เกรงว่าจำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนสมรสจึงได้ทำสัญญานี้ขึ้น ต่อมาจำเลยและโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกัน สัญญาดังกล่าวจึงสิ้นผล ถ้าจะฟังว่าเป็นสัญญาก่อนสมรสก็เป็นโมฆะเพราะมิได้จดแจ้งลงไว้ในทะเบียนสมรส โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาจำเลยยินดีหย่ากับโจทก์ ขอฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยเดือนละ3,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจำเลยจะถึงแก่ความตาย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู (ค่าเลี้ยงชีพ) เพราะเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โจทก์เคยส่งเสียค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนให้แก่จำเลยเสมอมาจนกระทั่งโจทก์สืบทราบว่าจำเลยประพฤติตัวไม่อยู่ในจารีตประเพณีชอบเที่ยวเตร่กับชายอื่นอยู่เสมอ โจทก์ได้รับความอับอายและว่ากล่าวตักเตือนจำเลยก็ไม่เชื่อฟัง โจทก์จึงงดส่งค่าใช้จ่ายให้จำเลย โจทก์มีฐานะไม่ดีเพราะเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

วันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงร่วมกันว่าตกลงหย่ากันและจะไปจดทะเบียนการหย่าภายใน 30 วัน นับแต่วันศาลพิพากษา ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2522 มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีผลบังคับจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์ แต่ถ้าไม่มีผลบังคับก็ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์และจำเลยขอสละประเด็นข้ออื่นและไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาก่อนสมรสตกเป็นโมฆะ พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนการหย่าที่อำเภอภายใน 30 วัน นับแต่วันศาลพิพากษา ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน ให้ยกคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า สัญญาข้อ 2 มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาข้อ 2 มีผลใช้บังคับได้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าตามสัญญาข้อ 2 ที่พิพาทกันมีใจความว่าฝ่ายภรรยาจะไม่ประพฤติตัวให้ผิดจารีตประเพณีและให้อยู่กินปรนนิบัติในฐานะให้เป็นสามีภรรยาอยู่กินร่วมกันโดยตลอดไป และจะไม่ประพฤติปฏิบัตินอกใจสามีอีกต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระทำผิดพลาดเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็นทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติของภรรยาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8) ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าภรรยาได้ถ้าหากผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติและข้อความในสัญญาจะเห็นได้ว่ามิได้เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนบุคคลอย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นการส่งเสริมศีลธรรมให้สามีและภรรยาได้อยู่กินเป็นปกติสุข มิให้ประพฤติผิดจารีตประเพณีอันดีงามถึงแม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะได้ทำกันก่อนที่โจทก์และจำเลยจะเป็นสามีภรรยากันก็ตาม แต่ต่อมาโจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันก็ได้ยอมรับสัญญาฉบับนี้ให้มีผลผูกพันบังคับระหว่างกันได้ มิได้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเจตนาบอกเลิกสัญญากันแต่อย่างใดจนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์และจำเลยจึงต้องผูกพันต่อกันตามสัญญาฉบับนี้ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เป็นที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายใด ๆ อีกทั้งมิได้เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นสัญญาฉบับนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าปรับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าปรับที่กำหนดกันไว้นั้นสูงเกินส่วน เห็นสมควรลดลงกึ่งหนึ่งก็พอสมควรแก่เหตุแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าปรับแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท

Share