คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและเพิกถอนชื่อจำเลย คดีฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมกันโดยทางมรดก การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทก็เป็นเรื่องของโจทก์ที่จะดำเนินการเพิ่มเติมชื่อของตนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ร่วมกับจำเลย จะให้ศาลเพิ่มชื่อโจทก์โดยเพิกถอนชื่อจำเลยออกไม่ได้จึงพิพากษายกฟ้องมานั้น ย่อมทำให้คำพิพากษาของศาลไร้ผล การวินิจฉัยที่เป็นคุณแก่โจทก์ แต่ไม่พิพากษาให้เป็นไปตามนั้น ถือว่าคำวินิจฉัยและคำพิพากษาขัดกันย่อมเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ฉะนั้น โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(2) ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยได้โดยไม่ต้องเพิกถอนชื่อจำเลยออก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบัว นางออน จิตเฉลียว มีบุตร 7 คน คือนายตา จิตเฉลียว (ถึงแก่กรรม) นายโส จิตเฉลียว (ถึงแก่กรรม)นางเหล็ก จิตเฉลียว (มารดาจำเลย ถึงแก่กรรม) นายสีทา จิตเฉลียว(ถึงแก่กรรม) นางถาง จิตเฉลียว (ถึงแก่กรรม) นายเคน จิตเฉลียว(โจทก์ที่ 1) นายสุด จิตเฉลียว (โจทก์ที่ 2) นายบัว จิตเฉลียวมีที่นา 1 แปลง มีเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน โดยได้รับมรดกมา นายบัวได้แจ้งการครอบครองและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อประมาณปี 2502 ที่พิพาทก็เป็นมรดกตกได้แก่บุตรดังกล่าวมาข้างต้น และได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมา และต่อมาทายาทคนอื่นถึงแก่กรรม คงเหลือแต่โจทก์ทั้งสองซึ่งก็ได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ต่อมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อปี 2525โจทก์ทั้งสองได้ตกลงให้จำเลยเช่าที่พิพาทเพื่อทำนา โดยให้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ในระหว่างที่จำเลยเช่าที่พิพาท จำเลยลักลอบนำที่พิพาทไปขอออก น.ส.3 ก. ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย ต่อมาเมื่อปี 2529 โจทก์ทั้งสองต้องการที่พิพาทคืนเพื่อจะเข้าทำประโยชน์เอง แต่จำเลยไม่ยอม และโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ครอบครองและ น.ส.3 ก.เป็นชื่อของจำเลย กับห้ามโจทก์ทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่พิพาทโจทก์ทั้งสองจึงทราบว่าจำเลยลักลอบนำที่พิพาทไปออก น.ส.3 ก.เป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากที่พิพาท ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป และเพิกถอนชื่อจำเลยออกจาก น.ส.3 ก.เลขที่ 2866 ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานีแล้วใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทน
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยได้มาจากนางเหล็ก มารดาจำเลยตั้งแต่ปี 2504 และได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและเปิดเผยเพื่อตนตลอดมา และได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่พิพาท จำเลยไม่เคยเช่าที่พิพาทจากโจทก์ จำเลยได้ขอให้ทางราชการออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท ซึ่งทางราชการได้ดำเนินการโดยถูกต้องไม่มีผู้ใดโต้แย้ง โจทก์เคยยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยผู้เดียว โดยได้ทำบันทึกไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเขื่องใน หากศาลฟังว่าที่พิพาทเป็นมรดก จำเลยก็ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย และโจทก์ฟ้องเป็นเวลากว่า 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของนายบัวตกได้แก่โจทก์ทั้งสองและนางเหล็กมารดาจำเลยโดยมรดก เมื่อนางเหล็กถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนางเหล็กก็ตกได้แก่จำเลยโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยไม่ได้แบ่งกันเป็นส่วนสัด การที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทกับเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ทั้งสองจำเลยไม่มีสิทธินำที่พิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อของจำเลยคนเดียวทั้งหมด เมื่อที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิครอบครองร่วมกัน จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาท และเมื่อโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ก็เป็นเรื่องของโจทก์ที่จะดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินเพิ่มชื่อของตนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ร่วมกับจำเลย จะให้ศาลเพิ่มชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยเพิกถอนชื่อจำเลยออกไม่ได้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1ถึงแก่กรรม ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นายสมพร จิตเฉลียว เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมกันโดยทางมรดก ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผลพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยโดยทางมรดก คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอีกประเด็นหนึ่งที่ว่าเมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวมาก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาท แต่ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทก็เป็นเรื่องของโจทก์ที่จะดำเนินการทางเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเพิ่มชื่อของตนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ร่วมกับจำเลย จะให้ศาลเพิ่มชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยเพิกถอนชื่อจำเลยออกไม่ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งทำให้คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไร้ผล การที่วินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ แต่ไม่พิพากษาให้เป็นไปตามนั้น ถือว่าคำวินิจฉัยและคำพิพากษาขัดกันย่อมเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้เสียให้ถูกต้องได้ กรณีตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในข้อสุดท้ายดังกล่าวมา มีบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(2) ว่า “ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด แต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้”คดีนี้โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและเพิกถอนชื่อจำเลยออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทน เมื่อคดีฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมกันโดยทางมรดก ศาลก็มีอำนาจพิพากษาใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยได้โดยไม่ต้องเพิกถอนชื่อจำเลยออก
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและจำเลยโดยทางมรดกให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์น.ส.3 ก. เลขที่ 2866 ตำบลสร้างถ่อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลย

Share