คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 826 ตำบลทุ่งวัดดอน (บ้านทวาย) อำเภอสาทร (บางรัก) กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 2143, 2144, 2145, 2146 และ 2148 ตำบลทุ่งวัดดอน อำเภอสาทร กรุงเทพมหานคร คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในค่าธรรมเนียม อากรแสตมป์ ภาษีเงินได้ และค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุมิตร ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเจียมส่วนหนึ่งและเป็นทรัพย์มรดกของนางนิภาส่วนหนึ่ง นายสุมิตรมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนางนิภาจำนวนหนึ่งในเจ็ดส่วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางนิภาหนึ่งในเจ็ดส่วน โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิได้รับมรดกของนายเจียมและนางนิภา และมีคำขอบังคับให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนนายเจียมและนางนิภากับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ กรณีจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนายเจียมและนางนิภา โดยให้มีชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของนายสุมิตร และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนายเจียมและนางนิภาด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต อันเป็นการต่อสู้โจทก์ทั้งสองด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท เมื่อนายเจียมและนางนิภาถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเจียมและนางนิภา นายสุวิทย์ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของนายเจียมและนางนิภาเช่นเดียวกับนายสุวิทย์ และนอกจากจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์แล้ว จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิภาร่วมกับนายธิติ และเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจียมร่วมกับนางกรแก้ว จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของนายเจียมและนางนิภา มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีกแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 และนายธิติในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิภาได้จัดการประชุมทายาทของนางนิภาถึง 7 ครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของนางนิภา แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และนายธิติได้ให้บริษัทเซ็นจูรี่ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาเพียงตารางวาละ 100,000 บาท ซึ่งต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้นเป็นตารางวาละ 170,000 บาท และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ตามสำเนารายงานการประชุม ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายเจียมก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของนายเจียมไปพร้อมกับมรดกของนางนิภาด้วยตามสำเนาหนังสือให้ความยินยอมและเห็นชอบในการขายที่ดินทรัพย์มรดก กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับนายธิติในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิภาได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของนางนิภาและทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และนายธิติจะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของนางนิภาตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลคดีหมายเลขแดงที่ 4676/2545 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และนายธิติก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวถึง 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 วันที่ 30 มีนาคม 2555 และวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ตามสำเนาคำร้องและยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของนางนิภาในคดีหมายเลขแดงที่ 10443/2544 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามสำเนาคำร้องและปรากฏว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายธิติว่า กองมรดกของนายเจียมและนางนิภามีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากถึง 1,800,000,000 บาท ต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ 66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ จึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ และถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อนายสุวิทย์เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์มีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองในประการสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดเกินอัตราตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในตอนต้นแล้วว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความที่โจทก์ทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดศาลละ 50,000 บาท จึงไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ในสำนวนแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 100,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง

Share