แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าโฉนดออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้คืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทให้เป็นเช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่จะต้องคืนโฉนด เห็นว่าเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๒/๒๕๖๐
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดชลบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นางจันทรา บูรณฤกษ์ ที่ ๑ นายวราวุธ วงศ์วิเศษ ที่ ๒ นางชุติมา ชวะโนทัย ที่ ๓ นายนราธร วงศ์วิเศษ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกองทัพเรือ ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙๒๖/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๑๔ , ๓๔๑๕ และ ๓๔๑๖ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ จนถึงปัจจุบัน โดยที่ดินทั้งสามแปลงได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๕ ของนางประยูรวดี ยุทธศาสตร์โกศล เมื่อปี ๒๕๔๑ เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แจ้งต่อ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้งสามแปลงเป็นโฉนดที่ดินที่อยู่ในที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่า เป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ พร้อมมอบต้นฉบับโฉนดให้แก่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยังมีสิทธิครอบครอง ปลูกบ้าน ปลูกต้นไม้ยืนต้น ทำรั้วล้อมรอบที่ดิน และทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ว่า ต้องใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาท ขอให้รื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ออกจากพื้นที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงแล้ว การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่มีคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขให้โฉนดที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดที่ดินจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่จะต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า ที่ดินโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้คืนที่ดินโฉนดทั้งสามแปลง ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยังมีสิทธิครอบครอง และดูแลทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมา เมื่อปี ๒๕๕๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า จะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวรื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ออกจากพื้นที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงตรวจสอบรายละเอียดแล้วพบว่า ที่ดินและโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ จึงติดต่อให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคืนโฉนดที่ดินพิพาท อันมีลักษณะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ หรือให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินใหม่แทนฉบับเดิม อันมีลักษณะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยไม่มีลักษณะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ แต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดี ที่ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามคืนโฉนดที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และแก้ไขโฉนดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนและหรือไม่อาจเพิกถอนได้ให้ศาลมีคำสั่งให้ถือว่า โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินสูญหายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดฉบับใหม่ (ใบแทน) แทนฉบับเดิมให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ วัตถุประสงค์หลักของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ก็คือ ประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก็ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินโฉนดพิพาทดังกล่าวออกทับที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ ๔๖๕ ซึ่ง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ดังนั้นการที่ศาลจะมี คำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้นั้น จึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนเป็นสำคัญว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุตามที่ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต่อสู้ แล้วจึงพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๑๔ , ๓๔๑๕ และ ๓๔๑๖ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ จนถึงปัจจุบัน โดยที่ดินทั้งสามแปลงแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๒๕ ของนางประยูรวดี ยุทธศาสตร์โกศลแต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ พร้อมมอบต้นฉบับโฉนดให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยังมีสิทธิครอบครอง และทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทแล้ว การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่มีคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขให้โฉนดที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามจะต้องคืนโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางจันทรา บูรณฤกษ์ ที่ ๑ นายวราวุธ วงศ์วิเศษ ที่ ๒ นางชุติมา ชวะโนทัย ที่ ๓ นายนราธร วงศ์วิเศษ ที่ ๔ ผู้ฟ้องคดี กองทัพเรือ ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ