คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกาของจำเลยยอมรับว่าทนายจำเลยได้เรียงฎีกาเสร็จแล้ว แต่จัดพิมพ์ไม่ทัน จึงขอเลื่อนการยื่นฎีกาไปอีก 7 วันเพื่อจัดพิมพ์เท่านั้น จึงมิใช่พฤติการณ์พิเศษ เพราะฎีกาเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) และ (5) ซึ่งตามมาตรา 46 วรรค 2 ทนายจำเลยจะเขียนฎีกาที่เรียงไว้เสร็จแล้วด้วยหมึกไม่ต้องดีดพิมพ์หรือตีพิมพ์ก็ได้ ซึ่งทนายจำเลยจะยื่นฎีกาที่เรียงเขียนไว้เสร็จแล้วต่อศาลในวันนั้นก็ทำได้โดยชอบ ปรากฏในฎีกาของจำเลยว่าได้พิมพ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2513 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นฎีกา แต่ขีดฆ่าตัวพิมพ์วันที่ 9 แล้วเขียนแก้เป็นวันที่ 14 ที่นำฎีกามายื่นต่อศาลฎีกานี้มี 19 แผ่น หรือ 38 หน้าพิมพ์ทนายจำเลยมายื่นคำร้องขอเลื่อนเวลาเมื่อเวลา 11.00 นาฬิกา และยังมีเวลาอีก 5 ชั่วโมงเศษที่จะพิมพ์ต่อไปให้เสร็จได้แน่นอน เพราะจะต้องได้พิมพ์ฎีกาบางส่วนมาแล้วตั้งแต่ตอนเช้าวันที่ 9 นั้นเองเป็นอย่างช้า ดังนี้ จึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายเวลาให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยให้การว่าที่พิพาทจำเลยครอบครองมา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๒ ต่อมาวันศุกร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า ครบกำหนดยื่นฎีกาวันนี้ เนื่องจากจำเลยอยู่ห่างไกล ทนายจำเลยจำเป็นต้องติดต่อกับตัวความก่อนแล้วจึงจะเรียงฎีกาได้ และเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงยืดยาวมากทนายจำเลยได้เรียบเรียงเสร็จแล้วแต่จัดพิมพ์ไม่ทัน จำเป็นต้องขอเลื่อนการยื่นฎีกานี้ไปเพื่อจัดพิมพ์ให้เรียบร้อยก่อนมีกำหนด ๗ วัน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำร้องนี้ยื่นเวลา ๑๑ นาฬิกาวันนี้ ถือว่าก่อนสิ้นระยะเวลาแห่งอายุฎีกา และมีเหตุผลแสดงพฤติการณ์พิเศษอนุญาตให้ขยายเวลายื่นฎีกาไปอีก ๗ วัน นับจากวันครบอายุ ต่อมาวันที่ ๑๔ มกราคม๒๕๑๓ จำเลยจึงยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาวันที่ ๑๖ เดือนเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ขยายเวลายื่นฎีกาให้จำเลยว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ เพราะไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายเวลาได้และโจทก์ได้ยื่นคำแก้ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ขยายเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยคำแก้ฎีกาข้อนี้ก่อนว่า ข้ออ้างขอขยายเวลายื่นฎีกาของทนายจำเลยตามคำร้องลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๓ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายเวลาได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคำร้องก็ยอมรับอยู่แล้วว่าทนายจำเลยได้เรียงฎีกาเสร็จแล้วแต่จัดพิมพ์ไม่ทัน จึงขอเลื่อนการยื่นฎีกาไปอีก ๗ วัน เพื่อจัดพิมพ์ฎีกาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษอะไร เพราะฎีกาเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๓) และ (๕)ซึ่งตามมาตรา ๔๖ วรรค ๒ ทนายจำเลยจะเขียนฎีกาที่เรียงไว้เสร็จแล้วด้วยหมึกโดยไม่ต้องดีดพิมพ์หรือตีพิมพ์ก็ได้ ซึ่งทนายจำเลยจะยื่นฎีกาที่เรียงเขียนไว้เสร็จแล้วต่อศาลในวันนั้นก็ทำได้โดยชอบ ข้ออ้างที่ว่าพิมพ์ไม่ทันซึ่งหมายความว่า ฎีกาที่เรียงเสร็จแล้วยังไม่ได้จัดพิมพ์เลยก็ไม่จริงเพราะปรากฏในฎีกาของจำเลยว่า ได้พิมพ์แล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๑๓นั้นเอง แต่ขีดฆ่าตัวพิมพ์วันที่ ๙ แล้วเขียนแก้เป็นวันที่ ๑๔ ที่นำฎีกามายื่นต่อศาล ฎีกานี้มี ๑๙ แผ่นหรือ ๓๘ หน้าพิมพ์ ทนายจำเลยมายื่นคำร้องขอเลื่อนเวลาเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ซึ่งยังมีเวลาอีกถึง ๕ ชั่วโมงเศษที่จะพิมพ์ต่อไปให้เสร็จได้แน่นอนเพราะจะต้องได้พิมพ์ฎีกาบางส่วนมาแล้วตั้งแต่ตอนเช้าวันที่ ๙ นั้นเองเป็นอย่างช้า จึงเห็นได้ว่าข้ออ้างขอขยายเวลายื่นฎีกานอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ยังไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายเวลาให้ได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายเวลาจึงไม่ชอบ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฎีกาของจำเลยที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๑๓จึงเกินกำหนดหนึ่งเดือนแล้ว ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยไม่ได้ศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาเดียวกันนี้ต่อไป
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย

Share