คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5227/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี เป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะการกระทำผิดและโทษไว้เป็นการเฉพาะ มิได้อาศัยฐานความผิดอื่นฐานใดฐานหนึ่งในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 91 ตรี ได้แม้จำเลยมิได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,80
โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 80,000 บาทศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงไม่มีอำนาจสั่งคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองนั้นแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายเลิศหรือกฤษดา สุกันทา ผู้เสียหาย ในสำนวนแรกว่าผู้เสียหายที่ 1 และเรียกนายสันติ สิบต๊ะผู้เสียหายในสำนวนหลังว่าผู้เสียหายที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 2 คน ร่วมกันจัดหางานให้นายเลิศหรือกฤษดา สุกันทา ผู้เสียหายที่ 1 และนายสันติ สิบต๊ะ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคนหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสอง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยกับพวกได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลางมีความสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์และมีงานให้ทำตำแหน่งคนงานในโรงงานจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 18,000 บาท ถึง 20,000 บาท หากผู้เสียหายทั้งสองประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ดังกล่าวต้องเสียค่าบริการตอบแทนแก่จำเลยกับพวกคนละ 80,000 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและจำเลยกับพวกไม่มีความสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นคนหางานไปทำงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินค่าบริการแก่จำเลยกับพวกไปเป็นเงินคนละ 80,000บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 80,000 บาท และนับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกัน

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยสำนวนละ 3 ปี นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกัน ความผิดข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสองว่า ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ได้ต่อเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตราใดมาตราหนึ่งของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ก่อน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยมิได้กระทำผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82 จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี ได้นั้น เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดลักษณะการกระทำผิดและโทษไว้เป็นการเฉพาะ มิได้อาศัยฐานความผิดอื่นฐานใดฐานหนึ่งในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใดศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามมาตรา 91 ตรี ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 80,000บาท ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงไม่มีอำนาจสั่งคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาในข้อกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ80,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share