คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยโอนที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการตีใช้หนี้จำนองหนี้เงินยืมนอกสัญญาจำนอง หนี้ตามเช็คกับได้เงินสดจากผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งภายหลังจากมีการขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย มีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 3 รายรวมเป็นเงิน330,607 บาท แต่จำเลยมีทรัพย์สินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้เพียง 29,534.32 บาท จำเลยย่อมรู้อยู่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่น ทั้งที่พิพาทก็มีราคาเกินกว่าหนี้จำนอง การโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ให้ผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำที่จำเลยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่น ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนในระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนที่พิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 หลังจากมีการขอให้ล้มละลาย แม้จะรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองการโอนในระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้รับโอนช่วงย่อมถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายนี้ เมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2530 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2530 ต่อมาผู้ร้องมีหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 จำเลยได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินของจำเลยโฉนดที่ 24981 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตีใช้หนี้ให้แก่นางคมคายผู้คัดค้านที่ 1เจ้าหนี้เงินกู้และเจ้าหนี้จำนองของจำเลยโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น วันที่ 23 ธันวาคม 2530 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5อันเป็นการโอนภายหลังที่ฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ผู้รับโอนช่วงจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และการโอนระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 หากไม่สามารถเพิกถอนการโอนได้ก็ให้ผู้คัดค้านทั้งห้าชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า จำเลยโอนที่ดินพิพาทใช้หนี้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีเจตนาให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การโอนช่วงได้กระทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ให้กลับสู่ฐานะเดิมหากไม่อาจโอนคืน ให้ผู้คัดค้านทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งห้ามีว่าคดีมีเหตุเพิกถอนการโอนที่พิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้โอนที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการตีใช้หนี้จำนอง หนี้เงินยืมนอกสัญญาจำนองหนี้ตามเช็คกับได้เงินสดจากผู้คัดค้านที่ 1 อีก 50,000 บาท ภายหลังจากมีการขอให้จำเลยล้มละลาย และจำเลยเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย โดยมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 3 ราย รวมเป็นเงิน 330,607 บาท แต่จำเลยมีทรัพย์สินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้เพียง29,534.32 บาท จำเลยย่อมรู้อยู่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นทั้งที่พิพาทก็มีราคาเกินกว่าหนี้จำนอง การโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่จำเลยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เปรียบแก่เจ้าหนี้รายอื่น ศาลจึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนในระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ที่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้เห็นว่าการโอนนี้ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบนั้น เมื่อมีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นขอรับชำระหนี้รวมเป็นเงิน 330,607 บาท แต่จำเลยมีทรัพย์สินรวบรวมได้เพียง 29,534.32 บาท ย่อมไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ การที่จำเลยโอนที่พิพาทตีใช้หนี้ดังกล่าวทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระเต็มจำนวนหนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบในตัว ข้อโต้แย้งของผู้คัดค้านนี้จึงฟังไม่ขึ้นเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนที่พิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1หลังจากมีการขอให้ล้มละลาย แม้จะรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 การโอนในระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้รับโอนช่วงย่อมถูกเพิกถอนด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share