คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตแต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสองเงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดไว้ว่า “กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชนหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินหรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอนทางเศรษฐกิจ…” เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศกับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมอันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1), (7), 50, 83, 84, 90, 91 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9), 44, 46, 46 ทวิ, 46 นว (1), (3) ให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นเวลา 5 ปี และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1598/2550 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินจำนวน 500,479.46 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ 1 ไปชำระหนี้ขายลดตั๋วเงินโดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายนั้น เป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง ไม่มีมูลความผิดทางอาญา ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และโจทก์ทั้งสองมิใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินในบัญชีเงินฝากเป็นกรรมสิทธิ์และตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สามารถบริหารจัดการเงินในบัญชีเงินฝากด้วยประการใด ๆ ก็ได้ เพียงแต่ต้องคืนเงินให้ลูกค้าครบจำนวนตามที่ลูกค้านำเงินเข้าฝากด้วยประการใด ๆ ก็ได้ เพียงแต่ต้องคืนเงินให้ลูกค้าครบจำนวนตามที่ลูกค้านำเงินเข้าฝากในบัญชีเท่านั้น การเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่การเอาทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 ไป ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และสำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) รัฐเป็นผู้เสียหายโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกที่ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เงินที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 นั้นเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งสอง มิได้เป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต จึงมีมูลความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้นจะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากดังกล่าว ทั้งตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) ก็ไม่ได้บัญญัติให้รัฐเป็นผู้เสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยทั้งสองและเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้นั้น เห็นว่า ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดไว้ว่า “กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชนหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินหรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอนทางเศรษฐกิจ…” เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศกับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมอันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตามพระราชาบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share