แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยจะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้ออ้างตามคำร้องของทนายจำเลยที่ว่าทนายจำเลยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเมื่อไปหาเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงทำให้เกิดอาการเครียดส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำเริบและด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดนั้น แต่ปรากฏว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ทนายจำเลยไปรับยาที่โรงพยาบาล แสดงว่าทนายจำเลยสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ อาการป่วยของทนายจำเลยดังที่กล่าวอ้างจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปยื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลาได้ ทั้งทนายจำเลยยังรับในคำร้องว่าเป็นความพลั้งเผลอของทนายจำเลยจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด อันนับเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยอีกด้วย ข้ออ้างของทนายจำเลยจึงมิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติดังกล่าว
ส่วนฎีกาจำเลยที่อ้างว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยนั้นอันเป็นฎีกาที่ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย แต่ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของทนายจำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยและความพลั้งเผลอของทนายจำเลย มิได้ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมายจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83 ด้วย) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 12 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 12 ปี และปรับ 100 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยและยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยิตุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน อ้างว่าเจ้าหน้าที่ยังพิมพ์คำพิพากษาไม่เสร็จประกอบกับทนายจำเลยมีคดีต้องเรียงคำคู่ความหลายคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 27 มกราคม 2551 ก่อนถึงวันครบกำหนดวันที่ 21 มกราคม 2551 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน อ้างว่าผู้พิพากษายังมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเนื่องจากลาราชการจึงคัดคำพิพากษาไม่ได้และทนายจำเลยต้องไปว่าความที่ศาลจังหวัดสตูล ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน อ้างว่าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพัทลุงซึ่งในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทำให้เกิดอาการเครียดส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำริบและด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า ข้ออ้างในคำร้องของจำเลยมิใช่เหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยและยกอุทธรณ์ของจำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่ครบกำหนดระยะขยายเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยจะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้ออ้างตามคำร้องของทนายจำเลยที่ว่าทนายจำเลยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อไปหาเสียงเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงทำให้เกิดอาการเครียดส่งผลให้โรคความดันโลหิตสูงกำเริบและด้วยความพลั้งเผลอจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดนั้น ปรากฏตามบัตรตรวจโรคเอกสารท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 ทนายจำเลยไปรับยาที่โรงพยาบาลพัทลุง แสดงว่าทนายจำเลยสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ อาการป่วยของทนายจำเลยดังที่กล่าวอ้างจึงไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ไม่สามารถทำคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปยื่นได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลาได้ ทั้งทนายจำเลยยังรับในคำร้องว่าเป็นความพลั้งเผลอของทนายจำเลยจึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดอันนับเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยอีกด้วย ข้ออ้างของทนายจำเลยจึงมิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างทำนองเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงมีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นฎีกาที่ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย แต่ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของทนายจำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยและความพลั้งเผลอของทนายจำเลย มิได้ขอให้ศาลใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน