คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และการขายทอดตลาดนั้น จำเลย (ผู้ขาย) เป็นผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด ฉะนั้น ตาม ป.รัษฎากร จำเลยจึงมีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้าน (ผู้ซื้อ) อยู่ในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตามมาตรา 50 (6) (ข) และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 52 วรรคสอง ดังนั้นเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยไปนั้น จึงเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินที่กรมสรรพากรมีหน้าที่จัดเก็บ ไม่ใช่เป็นเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลย ที่จะนำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์
เงินได้พึงประเมินจากการขายทอดตลาดตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเลยผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต่างหากไม่ใช่ผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินแล้ว คำว่า “ค่าภาษีต่าง ๆ” ตามที่ระบุไว้จึงไม่น่าจะหมายรวมถึงค่าภาษีเงินได้ถึงประเมินด้วยและเมื่อผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายไปนั้น ไปขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้และในการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องระบุรายการหักคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้คัดค้านด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 136 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดซึ่งผู้คัดค้านเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ในราคา 270,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน โดยนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด 9,821 บาท จ่ายคืนเงินทดรองจ่ายภาษีเงินได้ที่ผู้คัดค้านชำระแทนจำเลยในการโอนทรัพย์สิน โจทก์คัดค้านการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินดังกล่าวเรื่องการคืนภาษีเงินได้ให้แก่ผู้คัดค้าน เนื่องจากผู้คัดค้านมิใช่คู่ความในคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปจ่ายคืนให้แก่ผู้คัดค้าน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำคัดค้านของโจทก์ และยืนยันว่าการจัดทำบัญชีถูกต้อง ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินครั้งที่ 1 ใหม่ โดยมิให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปชำระให้แก่ผู้คัดค้านเป็นค่าภาษีเงินได้
เจ้าพนักงานบังคับคดีทำหนังสือรายงานข้อเท็จจริงในกรณีคืนค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้คัดค้าน ลงวันที่ 28 เมษายน 2547
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ใหม่ โดยให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีก่อน จากนั้นให้นำเงินที่คงเหลือชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อมีเงินเหลือจึงให้จ่ายคืนเงินทดรองจ่ายภาษีให้แก่ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และมีคำสั่งให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องของโจทก์แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินใหม่ และให้โจทก์ส่งสำเนาคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นต้นดำเนินการและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่ยื่นคำคัดค้าน (ที่ถูกผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ภายในกำหนดแล้ว แต่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำแถลงการณ์)
ในชั้นไต่สวนคำร้องโจทก์และผู้คับค้านแถลงรับว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 136 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยและได้ทดรองจ่ายค่าภาษีแทนจำเลยไปก่อน ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 โดยคืนเงินทดรองจ่ายค่าภาษีเงินได้ให้แก่ผู้คัดค้านโดยโจทก์ยังได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วน ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2548
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ใหม่ โดยให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีก่อนจากนั้นให้นำเงินที่คงเหลือชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อมีเงินเหลือจึงให้จ่ายคืนเงินทดรองจ่ายภาษีให้แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และผู้คัดค้านแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 136 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและได้ทดรองจ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนจำเลยไปก่อน (จำนวน 9,821 บาท) ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 จึงได้กันเงินไว้ จ่ายคืนเงินทดรองจ่ายค่าภาษีจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านโดยที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) และการขายทอดตลาดนั้น จำเลย (ผู้ขาย) เป็นผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด ฉะนั้น ตามประมวลรัษฎากรจำเลยจึงมีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้าน (ผู้ซื้อ) อยู่ในฐานะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่จำเลย จึงเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ตามมาตรา 50 (6) (ข) และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 52 วรรคสอง ดังนั้นเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยไปนั้น จึงเป็นเงินรายได้ของแผ่นดินที่กรมสรรพากรมีหน้าที่จัดเก็บ ไม่ใช่เป็นเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่จะนำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 169/2546 เรื่องการหักภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เอกสารลำดับที่ 2 ที่แนบท้ายหนังสือสำนักงานบังคับคดี จังหวัดราชบุรี ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2547 ข้อ 1 ที่ให้เพิ่มเติมข้อความในสัญญาซื้อขายว่าผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่มีรายการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มาขอคืนภาษีได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือโอนกรรมสิทธิ์ และข้อ 4 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุในการทำบัญชีรับ – จ่ายเงินให้แสดงรายการในบัญชีว่าเป็นการคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ทั้งยังได้ประทับตราข้อความการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ซื้อทราบไว้ท้ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารแนบท้าย ลำดับที่ 4 เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดปฏิบัติตามนั้น สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประมวลรัษฎากรตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อสัญญาในแบบพิมพ์ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดราชบุรี เรื่อง ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เอกสารแนบท้ายลำดับที่ 3 ที่ระบุข้อความว่า ผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน และค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่า เงินได้พึงประเมินจากการขายทอดตลาดตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จำเลยผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวต่างหาก ไม่ใช่ผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้พึงประเมินแล้ว คำว่า “ค่าภาษีต่าง ๆ” ตามที่ระบุไว้จึงไม่น่าจะหมายรวมถึงค่าภาษีเงินได้พึงประเมินด้วยและเมื่อผู้คัดค้านได้ทดรองจ่ายค่าภาษีดังกล่าวแทนจำเลยไปก่อนแล้ว ก็ย่อมมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยไปนั้น ไปขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ภายในกำหนดตามที่ระบุไว้ คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 169/2546 และในการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน เจ้าพนักงานบังคัดบคดีก็ต้องระบุรายการหักคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้คัดค้านด้วย ดังนั้นที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชี แสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ระบุให้กันเงินจ่ายคืนเงินทดรองจ่ายค่าภาษีให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน 9,821 บาท จึงชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีก่อน จากนั้นให้นำเงินที่คงเหลือชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อมีเงินเหลือจึงให้จ่ายคืนเงินทดรองจ่ายภาษีให้แก่ผู้คัดค้านนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share