คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้โดยปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่แก้ไขโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 4 จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 41, 43, 148, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือน (ที่ถูก 3 เดือน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 อีกกระทงหนึ่ง สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้โดยปรับบทความผิดให้ถูกต้อง แต่ไม่แก้ไขโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งในกรณีนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษนี้ได้โดยเห็นว่า ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้เสียหายมีอาการกระดูกปลายแขนซ้ายท่อนนอกหัก และกระดูกรูปเรือบริเวณข้อมือซ้ายร้าวโดยมิได้ถึงขนาดสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนักหลังเกิดเหตุ จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย นับว่าจำเลยรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจึงเปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำ ช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแล ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง และให้ลงโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share