แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิได้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วยตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา ระบุวัน เดือน ปี และเวลาจับเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 13 นาฬิกา วัน เดือน ปี และเวลาควบคุมเป็นวันเดียวกัน เวลา 14.40 นาฬิกา จึงต้องถือว่าวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 14.40 นาฬิกา เป็นเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่จับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ซึ่งยังมิได้นับเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้ารวมในกำหนดเวลาด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.55 นาฬิกา จึงเห็นได้ชัดว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องยังอยู่ภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาจับกุมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 274, 275
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นฟ้องเกินสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาจับกุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดจึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องนำวิธีพิจารณาความอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาใช้บังคับแก่คดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย ตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาคดีนี้ ระบุวัน เดือน ปี และเวลาจับเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 13 นาฬิกา วัน เดือน ปี และเวลาควบคุมเป็นวันเดียวกัน เวลา 14.40 นาฬิกา จึงต้องถือว่าวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 14.40 นาฬิกา เป็นเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่จับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ซึ่งยังมิได้นับเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้ารวมในกำหนดเวลาด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.55 นาฬิกา จึงเห็นได้ชัดว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องยังอยู่ภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ โดยเหตุว่าโจทก์ฟ้องเกินกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาจับกุมนั้น จึงมิชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป