คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการบรรยายให้จำเลยรับผิดอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 เท่านั้น มิใช่ให้รับผิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยเองตาม ป.พ.พ. มาตรา ป.พ.พ. มาตรา 420 หากคำฟ้องโจทก์ต้องการให้จำเลยรับผิดจากการละเมิดของจำเลยเอง ก็ต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทอาร์.ที.วาย บิลดิ้ง เซอร์วิส คอนแทรคเตอร์ จำกัด กับบริษัทนวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ร่วมกันชำระเงิน 177,591 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยร่วมที่ 2 ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้น กับให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี เฉพาะจำเลยร่วมที่ 2 ให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยร่วมที่ 2 ต้องรับผิด
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ใช่นายจ้างของนางคำ ผู้ทำละเมิด แต่เป็นผู้ให้บริการโรงแรม ถือว่ามีความประมาทเลินเล่อร่วมกับนางคำด้วย จำเลยจึงต้องร่วมกับนางคำรับผิดต่อโจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้นเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ คดีนี้มีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่าจำเลยประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อว่าโรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส โดยจำเลยทำสัญญาจ้างจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ทำความสะอาดอาคารโรงแรมของจำเลยและจำเลยได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ต่อจำเลยร่วมที่ 2 คุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกที่ใช้บริการโรงแรมของจำเลย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 บริษัทโพสต์พับลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาที่โรงแรมของจำเลย โจทก์เข้าร่วมการสัมมนาครั้นเวลาประมาณ 13 นาฬิกา โจทก์เดินเข้าห้องสัมมนาภายในโรงแรมของจำเลย ระหว่างนั้นนางคำ ลูกจ้างของจำเลยร่วมที่ 1 กำลังทำความสะอาดพื้นห้องน้ำที่เกิดเหตุด้วยเครื่องขัดพื้นไฟฟ้าปั่นแห้งโดยประมาทเลินเล่อมิได้ดำเนินการใดๆ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้เข้าใช้บริการทราบและระมัดระวังถึงการทำความสะอาดพื้นห้องน้ำที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้โจทก์ลื่นไถลหกล้มภายในห้องน้ำของจำเลยจนได้รับบาดเจ็บบริเวณไหล่กับต้นแขนขวา ซึ่งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยประมาทเลินเล่อทำความสะอาดพื้นแบบขัดแห้ง โดยมิได้จัดทำป้ายบอกเตือนให้ผู้ใช้บริการทราบว่ากำลังทำความสะอาดห้องน้ำอยู่ เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเดินเข้าใช้บริการห้องน้ำลื่นล้มได้รับบาดเจ็บ จำเลยในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างผู้ทำละเมิด เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการบรรยายให้จำเลยรับผิดอันเนื่องมาจากกระทำละเมิดของลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เท่านั้น มิใช่ให้รับผิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หากคำฟ้องโจทก์ต้องการให้จำเลยรับผิดจากการละเมิดของจำเลยเองก็ต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ด้วย เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมิใช่นายจ้างของนางคำผู้ทำละเมิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้จำเลยไม่ใช่นายจ้างของนางคำผู้ทำละเมิด แต่เป็นผู้ให้บริการโรงแรม ถือว่ามีความประมาทเลินเล่อร่วมกับนางคำ จำเลยจึงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ทำละเมิดร่วมกับนางคำ และจำเลยร่วมที่ 2 ผู้รับประกันค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ด้วย จึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลสำหรับจำเลยและจำเลยร่วมที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share