คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5220/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรตามมาตรา 112 เบญจ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้เป็นพิเศษเพื่อเก็บภาษี อากรที่ค้างชำระอยู่ให้เสร็จสิ้นล่วงไป จึงให้อำนาจอธิบดีหรือ ผู้ที่อธิบดีมอบหมายที่กักของใด ๆ ของผู้ที่ค้างชำระภาษีอากรซึ่ง กำลังผ่านศุลกากร จนกว่าจะได้รับชำระอากรที่ค้างจนครบ เมื่อ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มสำหรับ สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งผ่านศุลกากรไปแล้ว และแจ้งให้ โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มแล้วและแม้ว่าโจทก์จะอุทธรณ์การประเมิน และฟ้องคดีอยู่ก็ตาม ต้องถือว่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมิน เพิ่มและแจ้งให้โจทก์ชำระแล้วเป็นภาษีอากรค้างชำระโดย ไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาเสียก่อน หากต่อมาศาลพิพากษาในคดี ที่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจำเลยประเมินภาษีอากรเพิ่มไม่ชอบ จำเลย ย่อมมีหน้าที่คืน ภาษีอากรภาษีอากรดังกล่าวให้โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ศุลกากรฯมาตรา 10 ฉะนั้น เมื่อถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ชำระ อธิบดีกรมศุลกากรจึงใช้อำนาจกักสินค้าของโจทก์ไว้จนกว่า โจทก์จะชำระค่าภาษีอากรที่ค้างได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2530-2532 โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าและนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้ารวมทั้งสิ้น36 ฉบับ กรมศุลกากรจำเลยได้อนุญาตให้โจทก์นำสินค้าตามใบขนสินค้าดังกล่าวนี้ออกจากการอารักขาของจำเลยไปได้ โดยโจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้ ต่อมาระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม2532 จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าราคาที่โจทก์ได้สำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้านั้นไม่ถูกต้อง และสั่งให้โจทก์นำเงินไปชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน2,799,496.44 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของจำเลย เพราะราคาที่โจทก์สำแดงนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ต่อมาระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทุเลาการชำระภาษี โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงได้มีคำสั่งที่ ท.401/2532 ลงวันที่22 กันยายน 2532 สั่งกักของที่โจทก์นำเข้าโดยอ้างอำนาจตามมาตรา112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และได้มีหนังสือที่ กค.0609 (รฟ.)/495 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 แจ้งว่าได้สั่งงดพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าของโจทก์แล้ว จึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นเมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2532โจทก์ได้นำสินค้าช็อกโกแลตจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปดำเนินพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าตามปกติ แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรสำหรับใบขนสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ และกักสินค้าช็อกโกแลตของโจทก์ไว้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ท.401/2532 ลงวันที่ 22 กันยายน2532 และคำสั่งตามหนังสือที่ กค.0609 (รฟ.)/495 ลงวันที่ 13พฤศจิกายน 2532
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยงดปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่โจทก์สำหรับการที่โจทก์นำเข้าสินค้าช็อกโกแลตจากต่างประเทศตามฟ้องโจทก์นั้น เพราะเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยได้ตรวจพบว่าก่อนคดีนี้โจทก์ได้นำสินค้าอื่นเข้ามาในราชอาณาจักรและโจทก์ได้สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้า รวมทั้งสิ้น 36 ฉบับ ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายอันแท้จริง ทำให้อากรขาดไป เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบและทำการประเมินแล้ว โจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มเติมอีกรวมทั้งสิ้น 2,799,496 บาท จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบแล้วโจทก์ไม่ยอมชำระ โดยขอทุเลาการชำระอากรที่ประเมินเพิ่มเพื่อรอผลการอุทธรณ์ราคา แต่จำเลยมีคำสั่งไม่ผ่อนผันให้ทุเลาการชำระอากรและให้โจทก์ชำระอากรที่ขาดพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายให้ครบถ้วนโดยจำเลยได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมชำระจำเลยจึงมีคำสั่งให้งดรับปฏิบัติพิธีการตามคำสั่งที่3/2532 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2532 การที่จำเลยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยงดรับปฏิบัติพิธีการศุลกากรแก่โจทก์ เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ไว้ ตามมาตรา 112 เบญจแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจกักของในกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกค้างชำระค่าอากรเพื่อประโยชน์ในอันที่จะจัดเก็บภาษีอากรได้รวดเร็ว แม้จะไม่ใช่สินค้ารายเดียวกันกับที่ยังค้างชำระค่าอากรอยู่ก็ตาม นอกจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระตามการประเมินเพิ่มของจำเลยไปวางเป็นประกันต่อจำเลยสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 36 ฉบับดังที่โจทก์อ้าง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า การที่อธิบดีกรมศุลกากรจำเลยใช้อำนาจตาม มาตรา112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515กักสินค้าที่โจทก์นำเข้าโดยงดผ่านพิธีการใบขนสินค้าขาเข้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามประเด็นดังกล่าวมีปัญหาว่าการที่จำเลยประเมินภาษีอากรเพิ่มสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม36 ฉบับ และโจทก์ยังไม่ชำระภาษีอากรเพิ่ม แต่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อมาได้ฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของจำเลย คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางนั้น จะถือว่าภาษีอากรที่จำเลยประเมินเพิ่มดังกล่าวเป็นภาษีอากรค้างชำระอันจะให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรจำเลยกักสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาภายหลังและกำลังผ่านศุลกากรหรือไม่ เห็นว่า อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรตามมาตรา 112 เบญจ ดังกล่าวแล้ว เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้เป็นพิเศษเพื่อเก็บภาษีอากรที่ค้างชำระอยู่ให้เสร็จสิ้นล่วงไปโดยรวดเร็วจึงให้อำนาจอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายที่จะกักของใด ๆ ของผู้ที่ค้างชำระภาษีอากร ซึ่งกำลังผ่านศุลกากร จนกว่าจะได้รับชำระเงินอากรที่ค้างจนครบ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มสำหรับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 36 ฉบับ ซึ่งผ่านศุลกากรไปแล้ว และแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรเพิ่มแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรดังกล่าวและแม้ว่าโจทก์จะอุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีอยู่ก็ตามต้องถือว่าภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินเพิ่มและแจ้งให้โจทก์ชำระแล้วเป็นภาษีอากรค้างชำระโดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาเสียก่อน โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระให้เสร็จไปโดยรวดเร็วสมความมุ่งหมายในการจัดเก็บภาษีอากร ส่วนกรณีโจทก์อ้างว่าโจทก์จำเลยยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่เพราะโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการที่จำเลยเรียกให้ชำระภาษีอากรเพิ่มและนำคดีมาสู่ศาลจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นภาษีอากรค้างชำระนั้น เห็นว่า เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวแล้ว ทั้งภาษีอากรเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ชำระได้ตามกฎหมาย ภาษีอากรดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีอากรค้างชำระ อย่างไรก็ตาม หากต่อมาศาลพิพากษาในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจำเลยประเมินภาษีอากรเพิ่มไม่ชอบจำเลยย่อมมีหน้าที่คืนภาษีอากรดังกล่าวให้โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ฉะนั้น เมื่อถือว่าเป็นภาษีอากรค้างชำระ อธิบดีกรมศุลกากรจึงใช้อำนาจกักสินค้าของโจทก์ตามฟ้องในคดีนี้ไว้จนกว่าโจทก์จะชำระค่าภาษีอากรที่ค้างได้ คำสั่งกักสินค้าของอธิบดีกรมศุลกากรจึงชอบด้วยกฎหมาย…”
พิพากษายืน.

Share