แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลายกรรมต่างกัน โดยเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน 2551 จำเลยได้กระทำโดยมีอาวุธปืน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 รวม 4 กระทง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ โจทก์จะฎีกาในข้อหาความผิดนี้หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 91 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญากับความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 16 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่าเด็กหญิง น. ผู้เสียหาย เป็นบุตรของนายชาญ กับนางสาวนารีภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ต่อมาผู้เสียหายมาพักอาศัยอยู่กับจำเลยและนางบุญส่ง ซึ่งเป็นพี่สาวของบิดาที่บ้านเกิดเหตุ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา หลังจากนั้นผู้เสียหายแจ้งแก่นางเรณู ป้าสะใภ้ของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเรา นางเรณูจึงพาผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนได้ส่งผู้เสียหายไปตรวจร่างกาย ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลายกรรมต่างกันโดยเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน 2551 จำเลยได้กระทำโดยมีอาวุธปืน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 รวม 4 กระทง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ โจทก์จะฎีกาในข้อหาความผิดนี้หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ และฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในที่เกิดเหตุในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรกและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา กับความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8