คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ควบคุมตัว ส. ไว้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชนระหว่างสอบสวน โจทก์อนุญาตให้จำเลยประกันตัว ส. ไป โดยทำสัญญาประกันไว้กับโจทก์ว่า ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมชดใช้เงินจำนวน200,000 บาท โจทก์กำหนดให้จำเลยส่งตัว ส.4 ครั้ง จำเลยไม่เคยส่งตัว ส. เลย เป็นเวลานานถึง 2 ปีเศษ จำเลยก็ยังไม่สามารถส่งตัว ส. ผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยขวนขวายติดตามตัวส.เพื่อนำมาส่งมอบให้แก่โจทก์แต่ประการใดประกอบกับส.ต้องหาว่าฉ้อโกงประชาชนเป็นจำนวนเงินถึง 190,000 บาทเศษ เมื่อไม่ได้ตัว ส.มาดำเนินคดีนอกจากส. จะไม่ต้องได้รับโทษแล้วผู้เสียหายก็ไม่มีโอกาสจะได้รับเงินคืนด้วย พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุลดค่าปรับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ควบคุมตัวนายสมิง สุขสถาน ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนไว้เพื่อทำการสอบสวน ต่อมา จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนายสมิง สุขสถาน ไปจากการควบคุมของโจทก์และสัญญาว่าจะส่งตัวนายสมิงให้โจทก์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526เวลา 8 นาฬิกา ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้อนุญาตและปล่อยตัวนายสมิงไปชั่วคราวถึงวันนัดจำเลยไม่ส่งตัวนายสมิงให้แก่โจทก์ โจทก์ผ่อนผันเลื่อนกำหนดให้หลายครั้งจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 จำเลยก็ไม่ส่งตัวนายสมิงให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์แจ้งให้จำเลยนำเงินมาชำระภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528จำเลยทราบแล้วไม่ชำระค่าปรับ ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับสัญญา และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับมอบอำนาจจากพนักงานสอบสวนผู้รับสัญญาโจทก์แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเวลาให้ส่งตัวผู้ต้องหาและจำนวนเงิน ในสัญญาโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาปลอม จำเลยไม่เคยผิดสัญญาต่อโจทก์ สิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามสัญญาประกันระงับไปแล้ว เพราะเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2526จเลยได้ยื่นคำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันตัวนายสมิงอีกฉบับหนึ่งแทนฉบับที่นำมาฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเบี้ยปรับและดอกเบี้ยด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าปรับ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้นในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินค่าปรับ 100,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยได้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยชดใช้เงิน 200,000 บาท ตามฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แก่โจทก์ นาอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาข้อแรก จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.1และไม่ใช่ผู้ทำการสอบสวนหรือร่วมสอบสวนหรือสั่งคดี จึงไม่น่าจะถือว่ามีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า โจทก์จำเลยแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 มีนาคม 2529 ว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 จริง และจำเลยไม่สามารถส่งตัวนายสมิง สุขสถานให้แก่พนักงานสอบสวนตามที่นัดไว้ได้ นอกจากนี้ตัวจำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานยังเบิกความรับอีกว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พันตำรวจโทธานีสมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ที่ดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยในนามของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง โจทก์เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานในสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงทั้งหมด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงแล้วผิดสัญญาจริงดังฟ้องพันตำรวจโทธานีสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลพระโขนงผู้ซึ่งดำเนินคดีฟ้องร้องจำเลยในนามของพนักงานสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินการสอบสวนในเขตสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคท้ายเมื่อสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 ระบุว่าทำสัญญาประกันให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดังกล่าว โดยพันตำรวจโทธานีสารวัตรใหญ่จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย…
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า สมควรลดค่าปรับให้นั้น ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์อนุญาตให้ปล่อยตัวนายสมิงผู้ต้องหาเป็นการชั่วคราวตามสัญญาประกันรายพิพาทตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 พนักงานสอบสวนกำหนดให้จำเลยส่งตัวนายสมิง 4 ครั้ง จำเลยไม่เคยส่งตัวนายสมิงเลยจนถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2528 เป็นเวลานานถึง 2 ปีเศษจำเลยก็ยังไม่สามารถส่งตัวนายสมิงผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ได้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยขวนขวายติดตามตัวนายสมิงเพื่อนำมาส่งมอบให้แก่โจทก์แต่ประการใดประกอบกับนายสมิงต้องหาว่าฉ้อโกงประชาชนเป็นจำนวนเงินถึง 190,000 บาทเศษ เมื่อไม่ได้ตัวนายสมิงมาดำเนินคดีนาอกจากนายสมิงจะไม่ต้องได้รับโทษแล้วผู้เสียหายก็ไม่มีโอกาสจะได้รับเงินคืนด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลดค่าปรับให้จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share