แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ร. เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญอันเป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่ ป.วิ.อ. บัญญัติรับรองไว้และยังเบิกความเป็นพยานต่อศาลโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 243 รายงานผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ที่ ร. จัดทำขึ้นผ่านขั้นตอนการจัดทำทั้งการถ่ายรูป สำรวจ และทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีวิชาชีพในแต่ละสาขานั้นโดยตรง และเป็นไปตามหลักวิชาการ มีมาตรฐาน แม้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้แต่ก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ อ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ อันเป็นกระบวนการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอื่นอย่างเป็นระบบ ประกอบกับมีการซักถามและอธิบายโดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ฉายภาพประกอบ อันถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ในศาลจนเป็นที่ยอมรับและสิ้นสงสัย พยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบและพิสูจน์ถึงความถูกต้องเป็นจริงได้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ในปี 2510 ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง ส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง ที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนั้นเป็นที่ชายทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) แม้ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้ในภายหลังน้ำทะเลร่นหรือเขินไปทางทิศตะวันตกทำให้กลายเป็นที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงก็ตาม ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1309 ตราบใดที่ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ถอนสภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ประกอบ ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่เช่นเดิม ส่วนที่ดินเกิดเหตุส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกที่เป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงและไม่ปรากฏมีผู้ครอบครองทำประโยชน์นั้น เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) แม้จะมีบทบัญญัติว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1334 ซึ่ง ป.ที่ดิน มาตรา 4 ก็บัญญัติรับรองให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ ป.ที่ดินใช้บังคับเท่านั้น แต่การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยเป็นเวลาภายหลังปี 2519 และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1, 2, 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 43, 99 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากป่าหรือที่ดินที่บุกรุก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 8 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งหรือ นำสืบรับกันว่า จำเลยครอบครองและปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินเกิดเหตุเป็นเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ และเป็นที่ดินตรงบริเวณระบายด้วยหมึกสีเขียวตามแผนที่สังเขปแสดงตำแหน่งที่ดินที่บุกรุกคัดค้าน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลมอบอำนาจให้นายกรีฑายุทธ์ ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกรวม 9 คน โดยกล่าวหาว่า บุกรุกเข้าไปถือครองและก่อสร้างอาคารในที่ดินสาธารณประโยชน์ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งอำเภอถลางประกาศเป็นที่ดินเพื่อจะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเนื่องมาจากในปี 2544 องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลมีหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อนายอำเภอถลางขอสงวนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณชายหาดเลพัง ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งบางส่วนได้จัดทำเป็นสวนสาธารณประโยชน์ เพื่อใช้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แล้วมีการดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2529) จนกระทั่งมีประกาศอำเภอถลาง ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ว่า ทางราชการเห็นสมควรจะสงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามความในมาตรา 20 (4) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ ตามแผนที่แนบท้ายประกาศ จึงประกาศให้ผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ที่ประสงค์จะคัดค้านการสงวนหรือหวงห้ามที่ดินนี้ให้ยื่นคำคัดค้านต่อนายอำเภอภายใน 60 วัน นับแต่วันประกาศนี้ เมื่อครบกำหนดเวลาประกาศมีผู้คัดค้านรวม 9 คน ซึ่งรวมถึงจำเลยด้วย หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ถึงพวกจำเลยว่า ทางจังหวัดภูเก็ตพิจารณาคำคัดค้านของพวกจำเลยแล้วได้แจ้งว่า จังหวัดภูเก็ตเห็นชอบให้ดำเนินการสงวนที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าต่อไป หากไม่พอใจคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตก็ให้ดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว หากพ้นกำหนดถือว่ายินยอมให้สงวนหวงห้ามได้ สำหรับจำเลยได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช แต่ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่า อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินเป็นของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 61/2547 และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืน ซึ่งมีพวกจำเลยนำคดีมาฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ต่อมาชั้นรับมอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหากับชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ โดยชั้นสอบสวนให้การว่า เดิมที่ดินเกิดเหตุเป็นของนายโต๊ะยีเหม ปู่ของจำเลยได้ครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับ โดยปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินเกิดเหตุ จำนวน 2 หลัง เมื่อปู่ของจำเลยตาย นายกีกับนางมิน่า บิดามารดาของจำเลยเข้าครอบครองเรื่อยมาจนตกทอดถึงจำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์ ในปี 2530 จำเลยให้ลูกจ้างคอยดูแล และมีการต่อเติมบ้านหลังเก่าอีกห้องหนึ่ง มีการปลูกต้นมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์กระจายเต็มพื้นที่ ตามบันทึกรับมอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหากับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา สำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี หรือไม่ โจทก์มีนางสาวรุจิรา นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายระดับผู้ชำนาญการ สำนักเทคโนโลยีทำแผนที่ กรมที่ดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ เป็นพยานเบิกความได้ความทั้งหมดว่า ทางสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือถึงกรมที่ดินให้จัดเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมมาเบิกความเพื่อให้อ่านภาพถ่ายทางอากาศของสภาพพื้นที่เกิดเหตุคดีนี้ พยานได้รับมอบหมายจากกรมที่ดินแล้ว ตรวจสอบพบว่าบริเวณพื้นที่เกิดเหตุยังไม่ได้มีการอ่าน แปล และตีความภาพถ่ายทางอากาศ จึงขออนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดินจัดทำรายงานผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศขึ้นมา และผ่านการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลของคณะกรรมการตรวจสอบผลการวิเคราะห์อ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศแล้ว พยานวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงปี 2510 ซึ่งเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ช่วงปี 2518 และ 2519 ซึ่งเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ใช้ในราชการของกรมที่ดิน และช่วงปี 2538 ซึ่งเป็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศที่ใช้ในราชการของกรมที่ดินเช่นกัน โดยเป็นภาพขนาด 9 คูณ 9 นิ้ว ที่ถ่ายซ้อนๆ กันในพื้นที่เดียวกัน การอ่านจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ 2 ภาพ มองผ่านเครื่องมองภาพสามมิติให้มีตำแหน่งเดียวกันทั้งสองภาพวางซ้อนกัน จัดภาพด้านซ้ายให้อยู่ในช่องซ้าย ภาพด้านขวาให้อยู่ในช่องขวา จะทำให้มองเห็นในลักษณะเดียวกับการมองจากเครื่องบินลงมายังสถานที่จริง ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศประกอบและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ ผลปรากฏว่าในปี 2510 ปรากฏตามระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศว่า พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง (M402(2)) ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาด (F107) หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง (M402(1)) ทางทิศตะวันตกเป็นทะเล (W1) แสดงว่าในปี 2510 ยังไม่มีผู้ใดบุกรุกที่ดินเกิดเหตุ ป่าชายหาดก็ไม่ใช่ต้นไม้ที่เป็นลักษณะพืชผล ซึ่งสภาพป่าชายหาดนั้นน่าจะมีมาก่อนปี 2510 และไม่ปรากฏเส้นทางลงสู่ทะเลและทางสาธารณะในพื้นที่เกิดเหตุ ในช่วงปี 2518 และ 2519 ปรากฏตามระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศว่า พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นป่าชาดหาด (F107) ถัดไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง (M402(1)) หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง (M402(2)) และทะเล (W1) แสดงว่า พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่กลายเป็นป่าชายหาดที่ไม่ใช่พืชผลลักษณะที่มีคนมาปลูกไว้ และยังไม่มีคนบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ตรงบริเวณป่าชายหาด (F107) ที่เห็นเป็นจุดขาว ๆ ประปรายนั้นเป็นลักษณะของป่าชายหาดไม่ได้แสดงว่ามีการทำประโยชน์ในบริเวณนั้น และช่วงปี 2538 ปรากฏตามระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศว่า พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นป่าชายหาดที่มีการเพาะปลูกไม้ผลปะปน (F107(1)) บางส่วนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย (U2) และปรากฏเส้นทางทางทิศเหนือ ทิศใต้ และบริเวณตอนกลางของพื้นที่ อยู่ตรงบริเวณที่ทำเครื่องหมายด้วยเส้นประสีดำไว้ในพื้นที่ล้อมกรอบด้วยหมึกสีแดง พยานเบิกความประกอบการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฉายภาพสไลด์ให้คู่ความดูในห้องพิจารณาแล้วอธิบายถึงพัฒนาการของการบุกรุกพื้นที่เกิดเหตุของประชาชนว่า ในช่วงปี 2519 มีการพัฒนาของป่าชายหาดเพิ่มมากขึ้น อันเป็นต้นไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีแนวทะเลยังใกล้เคียงกับช่วงปี 2510 ตรงบริเวณดังกล่าวเป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง (M402(2)) พอถึงปี 2538 ปรากฏว่า พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เดิมในปี 2518 และ 2519 เป็นป่าชายหาด (F107) หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง (M402(2)) และทะเล (W1) นั้น กลายเป็นป่าชายหาดที่มีการเพาะปลูกไม้ผลปะปน (F107(1)) ที่พยานตรวจภาคสนามแล้วเป็นการปลูกต้นมะพร้าวปะปนอยู่ในป่าชายหาด และเป็นพื้นที่อยู่อาศัย (U1) แสดงว่า บริเวณที่เกิดเหตุเริ่มมีกิจกรรมของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องต้องเป็นเวลาภายหลังปี 2519 แล้ว และภาพบ้านของจำเลยตามภาพถ่ายรวมถึงมีการปลูกพืชผลปะปนอยู่ในป่าชายหาดและเส้นทางนั้นเห็นได้ในระวางภาพถ่ายทางอากาศปี 2538 เท่านั้น นางสาวรุจิราถือเป็นผู้เชี่ยวชาญอันเป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติรับรองไว้ ยังมีการเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นเป็นไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 พยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงข้างต้นที่ถือเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ผ่านขั้นตอนการจัดทำทั้งการถ่ายรูป สำรวจ และทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีวิชาชีพในแต่ละสาขานั้นโดยตรง รายงานผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศของนางสาวรุจิราตามที่มีการนำสืบต่อศาลก็เห็นได้ว่า เป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน แม้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้แต่ก็ผ่านกระบวนการตรวจสอบผลโดยคณะกรรมการตรวจสอบผลการวิเคราะห์ อ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ อันเป็นกระบวนการตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอื่นอย่างเป็นระบบ ทำให้ปราศจากสงสัยในกระบวนการจัดทำเอกสารของนางสาวรุจิรา ประกอบกับมีการซักถามและอธิบายโดยนางสาวรุจิราก็ได้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ฉายภาพประกอบการตอบข้อโต้แย้งสงสัยทุกขั้นตอนอย่างละเอียด อันถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ในศาลจนเป็นที่ยอมรับและสิ้นสงสัย รวมทั้งจำเลยเองก็โต้แย้งหักล้างไม่ได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือเช่นใด พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจสอบและพิสูจน์ถึงความถูกต้องเป็นจริงได้ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานบุคคลที่อาจมีอคติหาความเป็นกลางได้ค่อนข้างยากอีกด้วย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในปัญหานี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนายสิทธิชัยประกอบภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องกันกับพยานหลักฐานที่ได้จากนางสาวรุจิรารับฟังได้ว่า เดิมในปี 2510 ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึง (M402(2)) ส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นป่าชายหาด (F107) และหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง (M402(1)) ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนั้นเป็นที่ชายทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) แม้ปรากฏว่า ที่ดินเกิดเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นถึงนี้ ในภายหลังน้ำทะเลร่นหรือเขินไปทางทิศตะวันตกทำให้ที่ดินส่วนนี้กลายเป็นที่ดินที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงก็ตาม ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1309 และตราบใดที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ประกอบประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้ว ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอยู่เช่นเดิม ที่ดินเกิดเหตุส่วนน้อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกที่เป็นป่าชายหาดและหาดทรายที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงและไม่ปรากฏมีผู้ใดครอบครองและทำประโยชน์นั้น เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกประเภทหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) แม้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะมีบทบัญญัติว่าบุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334 ก็ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 บัญญัติว่า “…บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วย” นั้น บัญญัติรับรองให้เฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับคือวันที่ 1 ธันวาคม 2597 เท่านั้น แต่การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุของจำเลยคดีนี้เป็นไปในเวลาภายหลังปี 2519 และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินเกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดินจึงเป็นป่าตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่บัญญัติให้ “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฎีกา สำหรับพยานหลักฐานของจำเลยนั้นนอกจากไม่ได้นำสืบว่าได้ที่ดินเกิดเหตุมาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ดังจำเลยอ้างในชั้นสอบสวน ส่อถึงความจำนนด้วยพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ถามค้านจำเลยว่า มีพยานหลักฐานที่ยืนยันว่าบิดาของจำเลยครอบครองที่ดินเกิดเหตุมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ทราบ อันเป็นการเลี่ยงที่จะยืนยันตามคำถามนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ที่ว่าจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุภายหลังปี 2519 ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ที่ดินเกิดเหตุอยู่ติดกับที่ดินที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) หรือโฉนดที่ดินก็ดี มีมติของคณะกรรมการสภาตำบลเชิงทะเล ในปี 2528 ยกที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุให้ราษฎรถือกรรมสิทธิ์ทำประโยชน์ในที่ดินได้ถือสิทธิทำกินต่อไปก็ดี มีความเห็นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าที่ดินเกิดเหตุไม่อยู่ในเขตป่าก็ดี หาได้มีผลผูกพันในทางกฎหมายหรือลบล้างผลการใช้บังคับกฎหมายข้างต้นไม่ รวมถึงที่จำเลยมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่นั้นก็ไม่ใช่เอกสารสิทธิในที่ดิน จึงไม่ได้มีผลให้จำเลยได้มาตามกฎหมายที่ดินซึ่งที่ดินเกิดเหตุแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์แต่ประการใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินเกิดเหตุมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถือว่าเป็นของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 ซึ่งมีบางส่วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน บางส่วนเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกประเภทหนึ่งและข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินยังเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแล้วยังพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเกิดเหตุ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยมีเจตนาเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในข้อนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้างผู้แทน และบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินเกิดเหตุ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8