คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาท ไม่ยอมให้จำเลยเข้าออก เว้นแต่จะยอมเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์ ย่อมทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิ ดังนั้นที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นขอให้เปิดถนนพิพาทและในระหว่างพิจารณาได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จึงเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แม้ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่า การมีคำสั่งเช่นนั้นมีเหตุผลอันสมควรโดยความผิดหรือเลินเล่อของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263(1)การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3400 ซึ่งเป็นถนนพิพาทชื่อว่าถนนซอยพระยาไกรเพชรหรือถนนซอยพยาบาล ถนนพิพาทเชื่อมติดต่อกับถนนเจริญกรุงเป็นถนนส่วนบุคคล โจทก์เสียค่าก่อสร้างเป็นเงิน 500,000 บาทต่อมาบริษัทบางรักคอนโดมิเนียม จำกัด ได้ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหายและใช้งานได้ตั้งแต่ ปี 2527 ถนนพิพาทมีไว้สำหรับใช้เดินใช้รถจักรยานยนต์และรถจักรยานสำหรับคนในหมู่บ้านส่วนรถยนต์ทุกชนิดห้ามใช้ เว้นแต่รถยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งโจทก์เขียนข้อความห้ามไว้ชัดแจ้ง และตรงบริเวณหัวถนนพิพาทเชื่อมกับถนนเจริญกรุง โจทก์ทำประตูเหล็กใหญ่ไว้สำหรับรถยนต์เข้าออก ประตูเหล็กเล็กสำหรับคนเดิน รถจักรยานและรถจักรยานยนต์เข้าออก ซึ่งเปิดไว้ตลอดเวลา ส่วนประตูเหล็กใหญ่โจทก์ใส่กุญแจปิดไว้โดยมียามเฝ้า ถนนพิพาทบางช่วงและช่วงที่อยู่ติดต่อกับที่ว่างเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางเมตร โจทก์ใช้จอดรถยนต์ได้หลายสิบคัน และโจทก์ใช้ถนนพิพาทสำหรับรถยนต์ของโจทก์เหตุที่ห้ามรถยนต์อื่นเพื่อรักษาถนนมิให้เสียหาย โจทก์คิดค่าจอดรถยนต์ในถนนพิพาทชั่วโมงละ 10 บาท หรือวันละ 50 บาทโจทก์มีรายได้จากการให้จอดรถชั่วคราวและจอดรถประจำปีละ323,000 บาท ซึ่งโจทก์เก็บผลประโยชน์ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาจำเลยทั้งสิบสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 20556,20557, 20580, 20517, 20541, 20519, 20537, 20522, 20523,20514, 20536, 20576, 20577 และ 20579 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถว ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านพยาบาลและใช้รถยนต์ในถนนพิพาทโจทก์คิดค่าจอดรถยนต์จากจำเลยทั้งสิบสามในอัตราคันละ 5,000 บาทต่อปี แต่จำเลยทั้งสิบสามไม่ยอมจ่าย โจทก์จึงห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสิบสามใช้รถยนต์ในถนนพิพาทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2527หากจำเลยทั้งสิบสามจ่ายค่าจอดรถยนต์ในถนนพิพาทโจทก์จะมีรายได้เป็นเงิน 65,000 บาท ต่อปี จำเลยทั้งสิบสามได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 9951/2528 เรื่องภารจำยอมและทางจำเป็น ระหว่างดำเนินคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เปิดถนนพิพาทให้เป็นถนนสาธารณะเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2527และโจทก์ได้เปิดถนนพิพาทตลอดมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2533การที่โจทก์ต้องเปิดถนนพิพาทเป็นถนนสาธารณะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากจำเลยทั้งสิบสามและบุคคลอื่นที่นำรถยนต์เข้าจอดในถนนพิพาท คดีดังกล่าวในที่สุดศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากบุคคลที่นำรถยนต์มาจอดในถนนพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสิบสามได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็น คิดเป็นเงินค่าจอดรถยนต์ที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยทั้งสิบสามและบุคคลอื่นที่อ้างว่าเข้าไปทำธุรกิจกับจำเลยทั้งสิบสามเป็นเงินปีละ 65,000 บาท เป็นเวลา6 ปี เป็นเงิน 390,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากบุคคลอื่นที่ใช้ถนนพิพาทปีละ 323,000 บาทนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2527 ถึงวันฟ้อง รวม 6 ปี เป็นเงิน1,938,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,328,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และที่ 13 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 11 และที่ 13 ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 9951/2528เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ได้ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาท ทำให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 และที่ 13เดือดร้อนไม่สามารถใช้ถนนพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 12 ให้การว่า การขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปิดถนนพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และที่ 6ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ถนนพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3400 ตำบลยานนาวา(บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3400 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาโจทก์ได้แบ่งเป็นที่ดินแปลงย่อย 84 แปลงและได้สร้างตึกแถวเพื่อให้เช่าหรือขายพร้อมที่ดินที่ดินส่วนที่เหลือจากสร้างตึกแถวโจทก์ได้ทำเป็นถนนเป็นทางเข้าออกต่อเชื่อมกับถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นทางสาธารณะ จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ได้ซื้อตึกแถวพร้อมที่ดินจากโจทก์ในระหว่างปี 2516 ถึง 2519 และได้ใช้ถนนพิพาทเรื่อยมาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์ จนกระทั่งปี 2527 โจทก์ได้ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 7 ถึงที่ 13 ไม่สามารถใช้รถยนต์วิ่งเข้าออกได้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 จึงได้ร่วมกันฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 9951/2528 เรื่องทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น ในระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7ถึงที่ 13 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอคุ้มครองชั่วคราวศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์เปิดถนนพิพาทชั่วคราวต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ถนนพิพาทตกเป็นภารจำยอม ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 เป็นคดีนี้
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ใช้รถยนต์ในถนนพิพาทได้ตลอดไปโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยมีตัวจำเลยและพยานของจำเลยบางคนเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ขณะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวจากโจทก์ในระหว่างปี 2516 ถึง 2519 นั้นถนนพิพาทมีอยู่ก่อนแล้ว ในการซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ใช้ถนนพิพาทเข้าออกได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ก็คงไม่ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวจากโจทก์และเมื่อได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวจากโจทก์แล้ว ก็ได้ใช้รถยนต์เข้าออกถนนพิพาทตลอดมาโดยโจทก์มิได้ทักท้วงจนกระทั่งปี 2527 โจทก์ได้ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาทไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ใช้รถยนต์เข้าออกเว้นแต่จะเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่าเพิ่งมาขอเก็บค่าตอบแทนการใช้รถยนต์เข้าออกถนนพิพาทจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ในปี 2527 เห็นว่าข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 มีเหตุผลน่าเชื่อถือเพราะตามปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป ผู้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวจากผู้ขายนั้นย่อมต้องการทางสัญจรเข้าออกโดยสะดวกและยิ่งมีถนนที่ใช้รถยนต์เข้าออกโดยสะดวกอยู่ก่อนแล้ว เชื่อว่าไม่มีผู้ซื้อรายใดจะยอมให้ผู้ขายกำหนดให้ผู้ซื้อใช้ถนนได้เฉพาะเป็นทางเดินหรือใช้รถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า ขณะที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมตึกแถวแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13ใช้รถยนต์ในถนนพิพาทได้ตลอดไปโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7ถึงที่ 13 มีสิทธิใช้รถยนต์ในถนนพิพาทได้ตลอดไปโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาทเมื่อปี 2527 ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13เข้าออกเว้นแต่จะยอมเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 เชื่อโดยสุจริตว่าถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 9951/2528ขอให้เปิดถนนพิพาทและในระหว่างพิจารณาได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ก็เป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าการมีคำสั่งเช่นนั้นมีเหตุผลอันสมควรโดยความผิดหรือเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263(1) การกระทำของจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4และที่ 7 ถึงที่ 13 และที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ถนนพิพาทตกอยู่ในภารจำยอมหรือไม่เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นการพิพาทกันในเรื่องที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าถนนพิพาทเป็นของโจทก์และมิได้ตกอยู่ในภารจำยอมดังที่โจทก์อ้างก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share