แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ ให้อำนาจแก่ศาลที่จะจำหน่ายคดีได้หากโจทก์ทราบนัดแล้วมิได้ขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ทั้งการที่จำเลยขอเลื่อนคดีนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าหากมีกรณีดังกล่าวศาลจะต้องสอบคำร้องขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน แม้คดีโจทก์จะเป็นคดีแพ่งสามัญ แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์เป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากและสั่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ใช้บังคับแก่คดีแล้วก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มิได้บัญญัติให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงไม่อาจมีการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีฝ่ายเดียวดังกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาในคดีแพ่งสามัญ โจทก์จึงไม่อาจขอพิจารณาคดีใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้เงินตามเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระประแดง จำนวนเงิน 1,500,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแก่โจทก์ ศาลเห็นในเบื้องต้นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากจึงให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้บังคับแก่คดีโดยออกหมายเรียกไปยังจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองมาศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เวลา 13 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณา
ในวันนัดพิจารณา จำเลยทั้งสองมาศาลยื่นคำให้การและยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณา เนื่องจากทนายจำเลยทั้งสองติดว่าความที่ศาลอื่น ส่วนโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลแล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลให้ศาลทราบ ศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ยื่นคำร้องว่าไม่มีเจตนาหรือจงใจขาดนัดไม่มาศาลตามกำหนด ขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2543 ว่า กรณีโจทก์ขอพิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ชอบที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ในวันนัดพิจารณาคดีทนายโจทก์เจ็บป่วยจึงไปศาลไม่ได้ เป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งฝ่ายจำเลยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี แสดงว่าประสงค์จะให้ดำเนินคดีต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ชอบ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีมโนสาเร่เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตามมาตรา 193 แล้วไม่มาในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ” บทบัญญัติดังกล่าวเป็ฯบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่ศาลที่จะจำหน่ายคดีได้ หากปรากฏว่าโจทก์ทราบนัดแล้วมิได้ขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องโดยมิต้องคำนึงว่า จำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ ทั้งการที่จำเลยร้องขอเลื่อนคดีนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่าหากมีกรณีดังกล่าวศาลจะต้องสอบคำร้องขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน ข้ออ้างในฎีกาของโจทก์เท่ากับเป็นการแปลความเพิ่มหลักเกณฑ์ลงไปในมาตรา 193 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกต้อง ส่วนกรณีที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีนั้น บทบัญญัติแห่งกฎหมายในส่วนที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไม่ได้ให้สิทธิโจทก์ในการขอพิจารณาคดีใหม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว ที่โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า คดีโจทก์เป็นคดีแพ่งสามัญ ชอบที่จะไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์และอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เห็นว่า แม้คดีโจทก์จะเป็นคดีแพ่งสามัญ แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์เป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากและสั่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ใช้บังคับแก่คดีแล้ว ก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ ซึ่งตามบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มิได้บัญญัติให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา จึงไม่อาจมีการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีฝ่ายเดียวดังกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาในคดีแพ่งสามัญได้ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน