คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การควบกิจการระหว่างบริษัทเงินทุน ว. กับโจกท์เป็นการรวมกิจการโดยผลของกฎหมาย มิใช่การรวมกิจการและโอนสิทธิเรียกร้องโดยทั่วไป ซึ่งมาตรา 67 ตรี วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินุทน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ บัญญัติว่าเมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงการคลัง) แล้วให้ดำเนินการโอนกิจการได้โดยการโอนสิทธิเรียกร้อง ในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ. แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทเงินทุน ว. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306
ธนาคาร ส. เป็นธนาคารพาณิชย์ จึงต้องประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การพาณิชย์ฯ มาตรา 4 การเช่าซื้อมิใช่ธุรกิจที่กฎหมายให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ดำเนินการได้ ทั้งหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. มีข้อตกลงว่า สินทรัพย์ตามประกาศกระทรวงการคลังของโจทก์และรวมตลอดถึงสินทรัพย์ที่โจทก์ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ไม่รวมถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและสิทธิเรียกร้องในเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคาร ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และแม้โจทก์จะไม่ได้ระบุอ้างหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. ไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากบริษัทเงินทุนวชิระธนทุน จำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้บริษัทดังกล่าวเพียง 22 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีกเลย ต่อมาบริษัทเงินทุนวชิระธนทุน จำกัด ทำหนังสือโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดซึ่งรวมทั้งหนี้สินของจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวแก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์คืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 233,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทเงินทุนวชิระธนทุน จำกัด กับโจทก์ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือทั้งมิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองมิได้ยินยอมเป็นหนังสือด้วย จึงไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 67 จัตวา วรรคแรก บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการของบริษัทใดมีข้อเสนอจะควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่นหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่นเป็นการเร่งด่วน หรือในกรณีตามมาตรา 26 ทวิ ที่คณะกรรมการของบริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานโดยการควบกิจการหรือโอนกิจการ ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องควบกิจการหรือโอนกิจการเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและประโยชน์ของประชาชน ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยจะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ มาตรา 67 ตรี วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรีแล้วให้ดำเนินการโอนกิจการได้โดยการโอนสิทธิเรียกร้อง ในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อได้ความว่า วันที่ 22 ธันวาคม 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบการดำเนินการตามโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) โจทก์ และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 67 จัตวา และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 จัตวา ตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2541 เอกสารหมาย จ.4 จึงเป็นการรวมกิจการโอนผลของกฎหมายดังกล่าว มิใช่การรวมกิจการและโอนสิทธิเรียกร้องโดยทั่วไป การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทเงินทุนวชิระธนทุน จำกัด กับโจทก์ จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างนั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินส่งธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ตามประกาศกระทรวงการคลังเท่านั้น เห็นว่า แม้ตามประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) และข้อ 3 ระบุว่า เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 เสร็จสิ้น ให้โจทก์และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่กระทรวงการคลังเมื่อโอนสินทรัพย์และหนี้สินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 4 บัญญัติว่า “การธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ (ข) ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด (ค) ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และ “ให้สินเชื่อ” หมายความว่า ให้กู้ยืมเงิน ซื้อ ซื้อลด รับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน เป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้าหรือเป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต เมื่อธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์จึงต้องประกอบธุรกิจตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การเช่าซื้อจึงมิใช่ธุรกิจที่กฎหมายให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ดำเนินการได้ ทั้งหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) มีข้อตกลงว่า สินทรัพย์ตามประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่ 22 ธันวาคม 2541 ของโจทก์และรวมตลอดถึงสินทรัพย์ที่โจทก์ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ไม่รวมถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อ และสิทธิเรียกร้องในเงินให้กู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์แสดงว่าโจทก์ไม่ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) ไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share