แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมนั้น แม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) แม้จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ด้วยตนเองแต่ก็มีความแตกต่างจากรูปประกายดาวที่ปรากฏอยู่ทั่วไปสำหรับสินค้าอื่นๆ เพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ส่วนภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ แม้จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง จึงเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้าก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
สำหรับข้อความที่ว่า “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้าผงซักฟอก ทั้งลักษณะที่ใช้ก็มุ่งเน้นที่จะสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมในลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ตามนิยามศัพท์คำว่า “งานศิลปประยุกต์” ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 วัตถุประสงค์ของการให้คุ้มครองงานศิลปประยุกต์ที่หมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่างๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว เมื่อภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมและถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพ และข้อความอื่นๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า การออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 455,000,000 บาท ห้ามจำเลยทั้งสองใช้บรรจุภัณฑ์พิพาท หรือบรรจุภัณฑ์ที่เหมือนคล้ายใกล้เคียงกันอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองวันละ 1,000,000 บาท นับถัดจากฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกการจำหน่ายและเก็บผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสองออกจากท้องตลาดจนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์ ภาพวาดและคำบรรยายที่ใช้ในทางการค้าตามฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า งานดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์เพราะไม่ได้ลอกเลียนงานอื่น แต่เป็นการสร้างสรรค์งานโดยใช้ความรู้ความสามารถของผู้สร้างสรรค์เอง สำหรับภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) นั้น โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์ มาเบิกความยืนยันว่า นายไมเคิล เป็นผู้สร้างงานภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ด้วยตนเอง งานดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นโดยมีการใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และมีแนวคิดมาจากมโนภาพการระเบิดของดาวหางเมื่อพุ่งชนกับวัตถุที่โคจรอยู่ในระบบจักรวาล จะทำให้บริเวณที่เกิดชนกันนั้นสว่างและกลายเป็นแสงเจิดจ้าเหมือนสีขาวเช่นเดียวกับผงซักฟอก เมื่อสัมผัสกับเสื้อผ้าในน้ำแล้วผงซักฟอกจะแตกกระจายครอบคลุมเนื้อผ้า และทำปฏิกิริยาขจัดคราบสกปรกที่ฝังในเนื้อผ้าให้หลุดออกไป ให้เสื้อผ้าขาวสะอาดหมดจด และมีคำแถลงการณ์ของนายคริส ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ในขณะที่จำเลยทั้งสองมีนางสิริวรรณ และนายศิรพงษ์ มาเบิกความในทำนองเดียวกันว่า รูปประกายดาวซึ่งเป็นพื้นหลังเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 นั้น ผู้ทำรูปประกายดาวดัดแปลงจากงานที่มีอยู่แล้วโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถตามสมควรในระดับหนึ่ง บุคคลทั่วไปนำรูปประกายดาวไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ การใช้รูปประกายดาว (STARBURST) หรือแสงแฟลชพื้นหลังเป็นองค์ประกอบในการออกแบบมีมานานแล้ว และมีหลากหลายรูปแบบปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 และล.11 เห็นว่า โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์เบิกความยืนยันว่า นายไมเคิล เป็นผู้สร้างงานภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ด้วยตนเอง และมีคำแถลงการณ์ของนายคริส ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ขณะที่ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองในทำนองที่ว่า ผู้ทำรูปประกายดาวดัดแปลงงานที่มีอยู่แล้วนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นจริงหรือไม่ เช่นใด คดีจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ในเบื้องต้นว่า นายไมเคิล เป็นผู้สร้างงานภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม งานที่จะได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมนั้น แม้กฎหมายจะไม่ได้มุ่งประสงค์ให้งานนั้นต้องมีคุณค่าทางศิลปะ แต่ก็ต้องเป็นงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยตนเอง (Originality) ในลักษณะที่ควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หาใช่เป็นเพียงงาน (Work) ซึ่งทำขึ้นโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) นี้ แม้นายไมเคิล จะเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตนเอง โดยอ้างว่าได้มาจากมโนภาพการระเบิดของดาวหางเมื่อพุ่งชนกับวัตถุที่โคจรอยู่ในระบบจักรวาล ทำให้บริเวณที่เกิดชนกันนั้นสว่างและกลายเป็นแสงเจิดจ้าเหมือนสีขาว เช่นเดียวกับผงซักฟอกเมื่อสัมผัสกับเสื้อผ้าในน้ำแล้วผงซักฟอกจะแตกกระจายครอบคลุมเนื้อผ้า และทำปฏิกิริยาขจัดคราบสกปรกที่ฝังในเนื้อผ้าให้หลุดออกไป ทำให้เสื้อผ้าขาวสะอาดหมดจด แต่พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบนั้นจะเห็นได้ว่า สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดต่างก็ใช้รูปประกายดาวเป็นภาพประกอบเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติในการทำความสะอาดของสินค้านั่นเอง แนวคิดหรือมโนภาพที่นายไมเคิล กล่าวอ้างจึงเป็นแนวคิดที่ใช้กันอยู่สำหรับสินค้าประเภทนี้ และตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.11 ก็แสดงให้เห็นว่า รูปประกายดาวนี้มีปรากฏทั่วไปเป็นจำนวนมากหลากหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับเจ้าของสินค้าว่าจะนำรูปประกายดาวในลักษณะใดไปใช้กับสินค้าเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเพียงการเลือกแบบของรูปประกายดาวเพื่อนำมาใช้ประกอบกับแนวคิดดังกล่าวแล้ว ย่อมจะไม่ทำให้เกิดเป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นมา นอกจากนี้ ภาพกราฟฟิครูปประกายดาว (STARBURST) ของโจทก์ทั้งสอง แม้จะมีความแตกต่างจากรูปประกายดาวตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบมา แต่ความแตกต่างดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยและไม่เป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) อันควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนของภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์นั้น โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์และนางอนัญญา มาเบิกความประกอบยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 ได้ว่าจ้างให้บริษัทแดซลิ่ง กราฟฟิค จำกัด เป็นผู้ออกแบบ โดยมีนางอนัญญาเป็นผู้ดำเนินการ มีการปรับเปลี่ยนร่างหลายครั้งใช้เวลากว่า 5 เดือน ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางอนัญญาได้สร้างงานดังกล่าวขึ้นด้วยตนเอง ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์มีลักษณะเป็นโมเลกุลและแสดงออกถึงพลังและอานุภาพของเม็ดผงซักฟอกสีฟ้า แม้ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์จะเป็นรูปทรงกลมอันเป็นรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่ก็เป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี โดยไม่ปรากฏว่าได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิม จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง งานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้ว แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับภาพวาดและคำบรรยาย “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” นั้น โจทก์ทั้งสองมีนายศุภลักษณ์และนางอนัญญาเป็นพยานเบิกความประกอบยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของงานดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้สืบพยานในประเด็นนี้เช่นกัน คดีจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางอนัญญาเป็นผู้สร้างงานดังกล่าว โดยภาพวาดรูปมือมีลักษณะของการจัดวางมือทั้งสองข้างที่จับอยู่บนเสื้อ ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้นและสี เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากงานที่มีอยู่เดิมแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นงานสร้างสรรค์ (Original) ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง งานดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม อันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แม้ต่อมาจะมีการนำงานนี้ไปใช้ในทางการค้า ก็ไม่เป็นเหตุให้งานดังกล่าวขาดคุณสมบัติที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ว่า “สูตรมาตรฐาน สำหรับซักมือ” เป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ระบุถึงคุณสมบัติของสินค้าผงซักฟอก ทั้งลักษณะที่ใช้ก็มุ่งเน้นที่จะสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้ามากกว่าที่จะสร้างคำบรรยายดังกล่าวในแง่ของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในตัวเอง จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้นางอนัญญานำมาใช้ประกอบกับภาพวาดรูปมือและประสงค์จะใช้เป็นงานชิ้นเดียวกัน แต่ก็เห็นได้ว่าในการสร้างงานขึ้นมานี้ ภาพวาดกับคำบรรยายดังกล่าวสามารถแยกส่วนออกจากกันได้อย่างชัดเจน ในส่วนของคำบรรยายจึงไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมทั้งภาพ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อมามีว่า งานออกแบบซองบรรจุภัณฑ์เป็นงานศิลปประยุกต์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองว่า งานดังกล่าวเป็นการนำงานจิตรกรรมมารวบรวมจัดวางขึ้นใหม่แล้วจัดทำเป็นบรรจุภัณฑ์ และใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นงานศิลปประยุกต์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า “งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า” วัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองงานศิลปประยุกต์จึงหมายถึงการนำงานศิลปกรรมลักษณะงานต่าง ๆ มาใช้ในลักษณะที่เกิดประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าว สำหรับคดีนี้เมื่อรับฟังว่า ภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือเป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม และภาพกราฟฟิคบลูเพาเวอร์กับภาพวาดรูปมือดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบกันบนซองบรรจุภัณฑ์เพื่อประกอบเครื่องหมายการค้า ภาพและข้อความอื่น ๆ อันเป็นการนำเอางานศิลปกรรมไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าการออกแบบซองบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.