คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อนับระยะเวลาจากวันครบกำหนดชำระเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าซื้อแผ่นหลังคาและค่าติดตั้งรวมจำนวน 543,359.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 381,304.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 341,304.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างบริษัทแห่งหนึ่งปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร โจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 ครบกำหนดชำระราคาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 เพิกเฉย แต่ปรากฏว่าหลังคาที่โจทก์ติดตั้งชำรุดบกพร่อง โจทก์ส่งช่างไปซ่อมแซมแก้ไขหลายครั้ง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี…(5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” และมาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง..” ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างผู้อื่นปลูกสร้างอาคาร ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสังกะสีจากโจทก์และว่าจ้างโจทก์มุงหลังคาอาคาร กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี เมื่อปรากฏว่าโจทก์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2539 ครบกำหนดชำระเงินเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อนับระยะเวลาจากวันดังกล่าวถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า โจทก์ผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระค่าจ้างได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตีอันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share