คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมนำพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินและพนักงานสอบสวน ไปทำการรังวัดสอบเขต จำเลยที่ 1 มีพิรุธไม่กล้าที่จะนำชี้แสดง แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าเป็นที่ดินได้รับยกให้จาก บ.ให้ปรากฏแน่ชัดได้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องทราบดีว่าที่ดินส่วนนี้เป็นของโจทก์ร่วม ทั้งยังปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมมาก่อน และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไปแล้วจึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนา ที่จะบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา362, 365
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายเฉลิม ดวงบุษป์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2)(3) จำคุกคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.1 เดิมเป็นของนายบุญ ยุตะวัน บิดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2515 นายบุญได้แบ่งที่ดินดังกล่าวเป็น 2 แปลง คือแปลงด้านทิศเหนือ เนื้อที่ 12 ไร่ ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ป.จ.1 แล้วยกให้แก่นายโสม ยุตะวัน ต่อมานายโสมได้ขายให้แก่โจทก์ร่วม ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมให้นายไหล ยุตะวันเช่าทำนา ส่วนที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือที่ดินด้านทิศใต้ เนื้อที่ 31ไร่ นายบุญยกให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ขายฝากไว้กับนายชาตรี ธีรลีกุล ระหว่างนั้นนายชาตรีได้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3ก.) เนื้อที่ 21 ไร่ ปรากฏตามเอกสารหมายล.2 ต่อมานายชาตรีขายให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 นำไปขายฝากไว้กับนายชูชัย พิทักษ์พรพัลลภ จนหลุดเป็นสิทธิของนายชูชัย ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งห้ากับพวกได้เข้าไปทำนาในที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 ที่เหลือจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย ล.2 จำนวน 10 ไร่ แต่โจทก์ร่วมเห็นว่าจำเลยทั้งห้าบุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของโจทก์ร่วมจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าข้อหาบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วม มีปัญหาว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 132/102ตำบลไหล่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี โดยซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนายโสม ในวันเกิดเหตุเมื่อทราบจากนายไหลว่าจำเลยทั้งห้าบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมได้ห้ามปรามและแจ้งให้จำเลยทั้งห้าออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วม แต่จำเลยทั้งห้าไม่ยอม โจทก์ร่วมได้ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์ สินบุญญานนท์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอตระการพืชผล ร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์ได้นำโจทก์ร่วมไปพบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน อำเภอตระการพืชผลแล้วร่วมกันออกไปทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์ร่วมในวันทำการรังวัด จำเลยทั้งห้ามาที่เกิดเหตุแต่ไม่ยอมรับผลการรังวัดไว้แล้ว แต่ได้ให้มาทำการรังวัดสอบเขตกันใหม่ ต่อมาปี 2530โจทก์ร่วม ร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของที่ดินอำเภอได้ร่วมกันตรวจสอบแนวเขตที่ดินกันอีกครั้ง จำเลยที่ 1 ได้ร่วมทำการตรวจสอบด้วยโดยเริ่มทำการรังวัดจากทิศใต้ เมื่อถึงทิศตะวันออกจำเลยที่ 1 ไม่ยอมชี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินอำเภอตระการพืชผลจึงได้ทำแผนที่ที่ดินของโจทก์ร่วมไว้ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าทำนาบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมเนื้อที่ 1 ไร่ 50 ตารางวา แผนที่ตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวนี้โจทก์มีนายสมศักดิ์ จึงสุทธิวงษ์ พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอตระการพืชผลเป็นพยานเบิกความประกอบว่าเป็นผู้ทำขึ้นและยืนยันว่า ในวันที่พยานร่วมกับพนักงานสอบสวนทำการรังวัดที่ดินพิพาทได้เริ่มทำการรังวัดตั้งแต่ทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางยาวประมาณ 220 เมตร (ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ป.จ.1) โจทก์ร่วมได้ชี้ว่าจำเลยทั้งห้าบุกรุกเข้าไปในที่ดินโจทก์ร่วม 37 เมตรเศษ เมื่อพยานรังวัดเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 จึงมานำชี้ปรากฏว่าจุดที่จำเลยที่ 1นำชี้ทางทิศตะวันตกอยู่ห่างจากจุดเดิมที่โจทก์ร่วมนำชี้ประมาณ27 เมตร หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมชี้ต่อ หากที่ดินโจทก์ร่วมมีแนวเขตเป็นไปที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ที่ดินของจำเลยที่ 1 ก็จะต้องรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมอยู่ประมาณ 10 เมตร นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกว่าในวันที่โจทก์ร่วมมาแจ้งความร้องทุกข์ ได้รับแจ้งแล้วได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุและได้ขอความร่วมมือจากพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอตระการพืชผลให้ไปทำการรังวัดแนวเขตที่ดินพร้อมกับทำการสอบสวนคดี ผลการสอบสวนได้ความว่าจำเลยทั้งห้าบุกรุกที่ดินของโจทก์ร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์ได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่ไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 พยานโจทก์ดังกล่าวแม้จะปรากฏว่าโจทก์ร่วมเคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 1 มาก่อน เพราะจำเลยที่ 1ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ดินของโจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ก็ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องปรักปรำจำเลยที่ 1ในครั้งนี้ ส่วนนายสมศักดิ์และร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์เป็นเจ้าพนักงานและปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ จึงเชื่อว่าจะต้องเบิกความไปตามความจริง เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งห้าเข้าไปทำนามีที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมอยู่ด้วยจำนวน 1 ไร่ 50 ตารางวาปรากฏตามรูปแผนที่ที่ระบายด้วยเส้นหมึกสีแดงในเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 จะต้องทราบดีว่าที่ดินส่วนนี้เป็นของโจทก์ร่วมเพราะเมื่อโจทก์ร่วมนำพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอำเภอตระการพืชผลและร้อยตำรวจเอกเสกสิทธิ์ไปทำการรังวัดสอบเขตจำเลยที่ 1 มีพิรุธไม่กล้าที่จะนำชี้แสดงแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าเป็นที่ดินได้รับยกให้จากนายบุญให้ปรากฏแน่ชัดได้ อีกทั้งยังปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมบริเวณที่ระบายด้วยหมึกสีแดงตามเอกสารหมาย จ.1 มาก่อนและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 1มีเจตนาที่จะบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5เป็นภรรยา บุตร และบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1ตลอดมา น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทราบว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกับพวกเข้าไปทำนาในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ร่วม…”
พิพากษายืน.

Share