แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้บริษัท อ. ไปยื่นคำขออนุญาตแทนเพื่อขอมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง แต่ในขณะที่บริษัท อ.ส่งวัตถุระเบิดตามใบอนุญาตไปให้จำเลยที่ 1ปลัดกระทรวงกลาโหมยังไม่อนุญาตตามคำขอ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันมีวัตถุระเบิด เยลาทีนไดนาไมต์ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดขณะใช้พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อใช้พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับความผิดตามฟ้องให้สูงขึ้นกว่าเดิม จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีวัตถุระเบิด เยลาทีน ไดนาไมต์ ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดให้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ผู้ใดมีไว้ในครอบครองต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในครอบครอง 792 แท่งหนักประมาณ 101 กิโลกรัม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม เหตุเกิดที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530มาตรา 4, 15, 34, 42, 52 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476มาตรา 3, 7, 11 ประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครั้งที่ 6ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2508 เรื่องกำหนดชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 42จำเลยที่ 1 ให้ปรับสามหมื่นบาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้นายพีรยุทธ ชัยเนตร พยานจำเลยทั้งสามซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่ จำกัด และเคยเป็นผู้จัดการสาขาหาดใหญ่ ฝ่ายขายวัตถุระเบิดมาก่อนเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะสั่งซื้อวัตถุระเบิดโดยส่งใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3 ไปให้บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่ จำกัดเพื่อซื้อวัตถุระเบิดตามที่ได้รับอนุญาต นอกจากจะมีใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3 แล้วต้องได้รับอนุญาตให้ครอบครองวัตถุระเบิดจากกระทรวงกลาโหมอีกด้วย ทางปฏิบัติลูกค้าจะทำหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่ จำกัด ไปยื่นคำขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมตามคำขอเอกสารหมาย ป.จ.1 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.2ในขณะที่บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่ จำกัด ส่งวัตถุระเบิดตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3 ไปให้จำเลยที่ 1 ทางกระทรวงกลาโหมยังไม่ได้อนุญาตตามคำขอมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองเอกสารหมายป.จ.1 เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการมีวัตถุระเบิด เยลาทีนไดนาไมต์ ไว้ในครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหมก่อน จำเลยที่ 1 จึงได้มอบอำนาจให้บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่จำกัด ไปยื่นคำขออนุญาตแทนและในขณะที่บริษัทเอื้อวิทยาแมชีนเนอรี่จำกัด ส่งวัตถุระเบิดตามใบอนุญาตเอกสารหมาย ล.3 ไปให้จำเลยที่ 1ปลัดกระทรวงกลาโหมยังไม่อนุญาตตามคำขอมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองเอกสารหมาย ป.จ.1 จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีวัตถุระเบิดเยลาทีน ไดนาไมต์ ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด เพราะไม่ทราบว่าต้องขออนุญาตและแต่เดิมก็ไม่เคยขออนุญาตครอบครองยุทธภัณฑ์ต่อปลัดกระทรวงกลาโหมมาก่อนนั้น เป็นการแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย ซึ่งไม่อาจจะอ้างได้และขัดกับคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2530 ขณะใช้พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2476 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อใช้พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับความผิดตามฟ้องให้สูงขึ้นกว่าเดิม จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้อง “ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2476 มาตรา 7 วรรคแรก ประกอบมาตรา 11 จำเลยที่ 1 ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง