คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวบัญญัติในทำนองเดียวกันว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือทางจราจร โดยไม่มีบทสันนิษฐานให้ถือว่าเจ้าของสัตว์เป็นผู้กระทำความผิด หรือบัญญัติให้เจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะมิได้เป็นผู้ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อยหรือเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองก็ตาม ดังนี้ นอกจากโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าของโคตัวที่ก่อเหตุแล้ว โจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลโคตัวดังกล่าวและปล่อยให้วิ่งขึ้นไปบนทางจราจรหรือจำเลยปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังและวิ่งขึ้นไปบนทางจราจรโดยจำเลยมิได้ควบคุมดูแลหรือมอบหมายให้บุคคลใดช่วยควบคุมดูแล แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลโคในขณะเกิดเหตุอย่างไร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า มีบุคคลอื่นควบคุมดูแลโคแทนจำเลยหรือจำเลยมิได้ควบคุมดูแลโคของตนเองแต่ปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังไปรวมกับฝูงโคของบุคคลอื่น พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์ บนทางหรือทางจราจรอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111, 148 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 46, 73/1
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111, 148 (เดิม) พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง, 73/1 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติทางหลวง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างนำสืบข้อเท็จจริงเจือสมกันในข้อสาระสำคัญ คงแตกต่างเฉพาะเรื่องถ้อยคำที่จำเลยพูดกับสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรว่า จำเลยยอมรับผิดโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือยอมรับแบบมีเงื่อนไขโดยพูดทำนองว่า หากโคตัวที่วิ่งชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์เป็นของจำเลยจริง จำเลยจึงจะยอมซ่อมรถให้ ในข้อนี้เห็นว่า แม้โจทก์จะมีเพียงสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรซึ่งเป็นคู่กรณีกับจำเลยมาเบิกความ แต่การที่จะรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด หาได้ขึ้นอยู่จำนวนพยานไม่ แต่ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือในคำเบิกความของพยานที่นำมาสืบเป็นสำคัญ หากพยานโจทก์ที่นำมาสืบรับฟังได้ว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็นเหตุการณ์จริงแล้ว แม้โจทก์จะมิได้นำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดมาเบิกความ ก็ไม่มีผลทำให้น้ำหนักคำเบิกความของพยานที่รับฟังได้ดังกล่าวเสียไปหรือลดความน่าเชื่อถือลงแต่ประการใด พยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง ต่างเบิกความเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์เป็นลำดับขั้นตอนสอดคล้องต้องกันอย่างสมเหตุสมผล ทั้งยังอ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง โดยเฉพาะที่อ้างถึงนายเนียนกับนายบุญนาคซึ่งเป็นน้องชายและพี่ชายของจำเลยเอง หากพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความไม่ตรงตามความจริง จำเลยย่อมสามารถนำบุคคลทั้งสองมานำสืบหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากได้โดยง่าย เมื่อจำเลยมิได้นำมาสืบหักล้าง จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้สงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากอาจมิได้เบิกความตามความจริงทั้งหมด ส่วนที่นายอนุสรณ์มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยมาที่อู่ซ่อมรถของบิดานายอนุสรณ์ และพูดว่าหากโคที่มาชนรถเป็นของจำเลย จำเลยก็ยอมซ่อมรถให้นั้น นายอนุสรณ์เบิกความรับว่าเคยให้การในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การในวันเกิดเหตุจำเลยยอมรับว่าโคที่ชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์เป็นโคของจำเลยและยอมรับผิดโดยตกลงจะซ่อมรถให้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไขในการยอมรับผิดดังที่นายอนุสรณ์เบิกความแต่อย่างใด คำเบิกความของนายอนุสรณ์จึงมีลักษณะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลยผู้เป็นอา คำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์จึงรับฟังเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของนายอนุสรณ์แล้วเชื่อว่า จำเลยยอมรับผิดกับสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไข ส่วนที่จำเลยอ้างทำนองว่า เหตุที่ยอมรับผิดในวันเกิดเหตุ เนื่องจากภายหลังจากพาสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรไปที่อู่ซ่อมรถของนายอนุสรณ์แล้วจำเลยกลับไปดูที่คอกโคของจำเลยและเห็นว่าโคของจำเลยยังอยู่ครบ ทำให้ทราบว่าโคตัวที่วิ่งชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์ไม่ใช่โคของจำเลยนั้น เห็นว่า ก่อนที่สิบตำรวจโทณรงค์จะไปตามจำเลยมาที่เกิดเหตุ นายเนียนน้องชายจำเลยยืนยันก่อนหน้านั้นแล้ว โคตัวดังกล่าวเป็นของจำเลย สิบตำรวจโทณรงค์จึงไปตามจำเลยมาสอบถามเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าเป็นโคของจำเลยจริงหรือไม่ เมื่อจำเลยมาถึงที่เกิดเหตุ สิบตำรวจโทณรงค์ชี้ไปที่โคตัวที่วิ่งชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์ให้บุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุดูและถามจำเลย จำเลยก็รับว่าเป็นโคของจำเลยโดยไม่ลังเล พฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยจำโคของตนเองได้แน่นอน เพราะหากจำเลยไม่แน่ใจว่าโคตัวดังกล่าวเป็นของตนเองจริง จำเลยน่าจะขอกลับไปตรวจสอบที่คอกโคของตนเองให้แน่ใจเสียก่อนว่าโคตัวที่สิบตำรวจโทณรงค์ชี้ให้ดูนั้นเป็นโคของจำเลยหรือไม่ ซึ่งจำเลยนำสืบว่าคอกโคของจำเลยอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุเพียง 300 เมตร เท่านั้น และไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดขวางมิให้จำเลยทำการตรวจสอบโคของตนที่คอกโคก่อนแต่ประการใด ส่วนที่จำเลยอ้างทำนองว่า จำเลยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโคของจำเลย เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีชาวบ้านหลายคนเลี้ยงโคนั้น เห็นว่า ในวันที่สิบตำรวจโทณรงค์นำรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์ไปที่อู่ซ่อมรถตามที่จำเลยนัด จำเลยก็มิได้มาบอกแก่สิบตำรวจโทณรงค์ว่าไปตรวจสอบที่คอกโคของตนแล้ว จึงทราบว่าโคของตนมิได้หลุดออกไปจากคอกโควิ่งไปชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์ ทั้งมิได้พาสิบตำรวจโทณรงค์และนางสาวนิภาพรไปดูที่คอกโคของจำเลยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นการเข้าใจผิดดังที่จำเลยอ้าง แต่กลับบอกว่าไม่มีเงินไม่อยากซ่อมรถให้ นอกจากนี้ จำเลยก็มิได้บอกว่าโคตัวที่จำเลยยอมรับว่าเป็นของจำเลยในวันเกิดเหตุนั้นเป็นโคของใคร และมิได้นำนายเนียนมายืนยันว่านายเนียนก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโคของจำเลยเช่นกัน ข้ออ้างของจำเลยจึงเป็นพิรุธ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า โคตัวที่วิ่งชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์เป็นโคของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีข้อสงสัยในปัญหาดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวบัญญัติทำนองเดียวกันว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางหรือทางจราจร โดยไม่มีบทสันนิษฐานให้ถือว่าเจ้าของสัตว์เป็นผู้กระทำความผิด หรือบัญญัติให้เจ้าของสัตว์จะต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว แม้จะมิได้เป็นผู้ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อยหรือเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองก็ตาม ดังนี้ นอกจากโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าของโคตัวที่ก่อเหตุแล้ว โจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ควบคุมดูแลโคตัวดังกล่าวและปล่อยให้วิ่งขึ้นไปบนทางจราจร หรือจำเลยปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังและวิ่งขึ้นไปบนทางจราจรโดยจำเลยมิได้ควบคุมดูแลหรือมอบหมายให้บุคคลใดช่วยควบคุมดูแล แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าก่อนเกิดเหตุ โคของจำเลยเดินอยู่ตรงบริเวณป่าละเมาะข้างทางรวมกับฝูงโคประมาณ 10 ตัว โดยมีชายคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแล เมื่อโคของจำเลยวิ่งชนรถยนต์กระบะของสิบตำรวจโทณรงค์แล้ว ก็กลับเข้าไปอยู่ในฝูงโคที่ชายคนดังกล่าวเป็นผู้ควบคุมดูแลเช่นเดิม ส่วนจำเลยอยู่ที่บ้านของจำเลย แม้บ้านจำเลยจะอยู่ห่างจากจุดที่ชายคนดังกล่าวเลี้ยงโคประมาณ 50 เมตร แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลโคของชายคนดังกล่าวในขณะเกิดเหตุอย่างไร และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ชายคนดังกล่าวมิได้เป็นควบคุมดูแลโคแทนจำเลยหรือจำเลยมิได้ควบคุมดูแลโคของตนเองแต่ปล่อยให้โคเดินไปตามลำพังไปรวมกับฝูงโคของชายคนดังกล่าว นอกจากนี้ไม่มีพยานโจทก์ หรือเจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ในที่เกิดเหตุคนใดถามจำเลยและชายที่เลี้ยงโคว่าใครเป็นผู้ควบคุมดูแลโคตัวที่ก่อเหตุในขณะเกิดเหตุ เพียงแต่ถามว่าโคเป็นของใครเท่านั้น พนักงานสอบสวนก็มิได้เรียกชายที่เลี้ยงโคมาสอบถาม พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยเป็นผู้ที่ขี่ จูง ไล่ต้อน ปล่อย หรือเลี้ยงสัตว์บนทางจราจรอันเป็นความผิดตามบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share