คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5194/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาสำหรับผู้ที่ขออนุญาตไปศึกษาวิชาโดยทุนส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ข้อ 1 มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าจะตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาโดยเต็มสติปัญญา ในระหว่างศึกษาวิชาอยู่ข้าพเจ้าจะประพฤติตนให้เรียบร้อยไม่เกียจคร้านและจะไม่ทำการสมรสในต่างประเทศ ถ้าข้าพเจ้าปฏิบัติผิดสัญญาข้อนี้แล้ว ทางราชการก็ชอบที่จะเรียกกลับหรือสั่งปลดข้าพเจ้าได้… ทั้งข้าพเจ้าจะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่ข้าพเจ้าในระหว่างศึกษาเพิ่มเติมให้แก่ทางราชการด้วยทั้งสิ้น” ส่วนข้อ 2 มีข้อความว่า “เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าจะกลับมารับราชการในกระทรวงกลาโหมต่อไป ถ้าข้าพเจ้ากลับมารับราชการได้ยังไม่ครบ 2 เท่า ของเวลาที่ไปศึกษา แต่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นอย่างน้อย หรือยังไม่ครบ 10 ปี เป็นอย่างมาก นับแต่กลับมารับราชการ… หากข้าพเจ้าประสงค์จะลาออกจากราชการก่อนกำหนดที่กล่าวแล้วข้าพเจ้ายอมใช้เงินเป็นจำนวน 3 เท่าของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นที่ทางราชการได้จ่ายให้ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชาอยู่นั้นจนครบถ้วนทันทีเมื่อได้รับการทวงถาม” จากข้อสัญญาดังกล่าวในกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายตามสัญญาข้อ 1 นั้นจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติผิดสัญญา 3 ประการ คือ ไม่ตั้งใจและพากเพียรศึกษาวิชาประพฤติตนไม่เรียบร้อยและเกียจคร้าน และทำการสมรสในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจจะเรียกจำเลยที่ 1 กลับหรือสั่งปลดจำเลยที่ 1 ได้ โดยที่จำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการ ดังที่กล่าวมา และโจทก์มิได้เรียกจำเลยที่ 1 กลับประเทศไทย หรือปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการ กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอลาออกจากราชการนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ขยายเวลาเพื่อการศึกษาวิชา แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่สำเร็จการศึกษา แต่ตามสัญญาใช้คำว่า เสร็จการศึกษา ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1จะสำเร็จการศึกษาหรือไม่ จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องกลับมารับราชการตามที่ทำสัญญาไว้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้และลาออกไปก่อนที่จะกลับมารับราชการตามที่ได้สัญญาไว้ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาเฉพาะที่กำหนดไว้ในข้อ 2 เท่านั้น ส่วนข้อ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินรายเดือนและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทางราชการจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดข้อสัญญาที่กล่าวไว้ในข้อ 1 และโจทก์เรียกตัวจำเลยที่ 1 กลับจากต่างประเทศหรือมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 1 เท่านั้นไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ แม้จะอยู่ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตาม เพราะสัญญาดังกล่าวมีข้อความกำหนดไว้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อ 2จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา
การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนที่ได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาที่ต่างประเทศโดยหน่วยงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อ 1 แห่งสัญญาดังกล่าวและทำเรื่องเสนอโจทก์ให้ออกคำสั่งอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการนั้น แม้จำเลยที่ 1 โดยบิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระแทน ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 1 เท่า ของเงินรายเดือนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์โดยมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกให้ชำระเบี้ยปรับในส่วนที่เหลือเพราะพึงพอใจในเงินเบี้ยปรับนั้นแล้ว เป็นเรื่องที่หน่วยงานของโจทก์ตีความในสัญญาไม่ถูกต้องและถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการเป็นการยอมรับเอาเบี้ยปรับจำนวน 1 เท่า ไว้แล้ว ดังจะเห็นได้จากสัญญาข้อ 2 ก็ได้กล่าวถึงการลาออกก่อนกำหนดเวลาที่จะกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา แสดงว่าแม้โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจำเลยที่ 1 ก็ยังมีภาระที่จะต้องชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ การชำระหนี้ในกรณีนี้คือการกลับมาปฏิบัติงานให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระหนี้เลย จะถือว่าโจทก์ยอมรับการชำระหนี้โดยมิได้สงวนสิทธิในเรื่องเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคท้าย ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่จะต้องชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
การกำหนดเบี้ยปรับคือข้อสัญญาที่คู่กรณีกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าเนื่องจากการที่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรและตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาในกรณีที่ผิดสัญญานั้นกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น แต่ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งมิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้

Share