แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งหมายนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ปิดประกาศแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่หน้าศาลแทนการส่งหมาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 77 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226
ในวันที่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้ส่งประเด็นคืนศาลชั้นต้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปศาล จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดฟังประเด็นกลับ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งวันนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่เมื่อได้ความว่าไม่มีการสืบพยานประเด็นโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 จะฟังประเด็นกลับหรือไม่ ไม่เป็นผลเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เพราะหลังจากนั้นศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ทราบอีก จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คู่ความที่เสียหายอันจะยกการพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นว่ากล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ส่งหมายเรียกและสำนวนคำฟ้องโดยวิธีปิดหมายมาก่อน การที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลเป็นอีกวิธีการหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 มีผลเช่นเดียวกับการปิดหมายการนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยประกาศหน้าศาลจึงชอบด้วยกฎหมายและเมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันประกาศจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบวันนัดแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ – 8958 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2540 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 พ – 8958 กรุงเทพมหานคร ชนนายทองสุข ปานนิ่ม สามีของโจทก์ซึ่งกำลังเดินข้ามถนนจนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกยอมรับผิดต่อโจทก์ แต่กลับเพิกเฉยไม่ชำระค่าเสียหายตามข้อตกลงทำให้โจทก์เสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกับค่าปลงศพนายทองสุขรวม 100,000 บาท และต้องขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นเงิน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์บอกกล่าวทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทองสุข ปานนิ่ม และเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายทองสุข ที่เดินตัดหน้ารถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 3 ไว้ต่อโจทก์บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ขาดไร้อุปการะ และค่าเสียหายไม่เกิน 100,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยานจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 292,359 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่อกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 30,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี แต่ไม่มีการสืบพยานประเด็นโจทก์ ศาลจังหวัดธัญบุรีส่งประเด็นคืนและกำหนดวันนัดฟังประเด็นกลับวันที่ 21 ตุลาคม 2542 ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งวันนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ เมื่อถึงวันนัดฟังประเด็นกลับศาลชั้นต้นได้ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังประเด็นกลับ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่มาในวันดังกล่าว และในวันนั้นศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 วันที่ 13 ธันวาคม 2542 และให้ประกาศวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบหน้าศาล ศาลชั้นต้นปิดประกาศดังกล่าวในวันที่ 21 ตุลาคม 2542 เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่มา จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 วันที่ 17 มีนาคม 2543 และให้ประกาศวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบหน้าศาล ศาลชั้นต้นปิดประกาศดังกล่าววันที่ 13 ธันวาคม 2542 เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวจำเลยที่ 2 ไม่มา จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 วันที่ 16 พฤษภาคม 2543 และให้ประกาศวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบหน้าศาล ศาลชั้นต้นปิดประกาศดังกล่าวที่ 17 มีนาคม 2543 เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ไม่มา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 12 มิถุนายน 2543 และให้ประกาศวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบหน้าศาล ศาลชั้นต้นปิดประกาศดังกล่าววันที่ 16 พฤษภาคม 2543 เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ไม่มาศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 11 กรกฎาคม 2543 และยื่นอุทธรณ์วันที่ 4 สิงหาคม 2543 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งหมายนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ แต่ปิดประกาศแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่หน้าศาลแทนการส่งหมายตามปกติ จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 77 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จึงไม่ชอบ เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า ในวันที่ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้ส่งประเด็นคืนศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ไปศาล จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบวันนัดฟังประเด็นกลับ การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งวันนัดฟังประเด็นกลับให้จำเลยที่ 2 ทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่เมื่อได้ความว่าไม่มีการสืบพยานประเด็นโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 จะฟังประเด็นกลับหรือไม่ ไม่เป็นผลเสียหายแก่จำเลยที่ 2 แต่ประการใด เพราะหลังจากนั้นศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ทราบอีก จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คู่ความที่เสียหายอันจะยกการพิจารณาที่ผิดระเบียบขึ้นว่ากล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ส่วนเมื่อศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยปิดประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบหน้าศาลตลอดมา จนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้ได้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โดยวิธีธรรมดาไม่ได้ตามรายงานการเดินหมายลงวันที่ 18 มีนาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งโดยวิธีปิดหมายเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีธรรมดาไม่สามารถกระทำได้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีอื่นแทน โดยการปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ ณ สถานที่ทำการอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 การแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวมีผลเช่นเดียวกับการปิดหมาย การนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 โดยประกาศหน้าศาลจึงชอบด้วยกฎหมายและเมื่อล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันประกาศจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบวันนัดสืบพยานของจำเลยที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลตามวันนัดสืบพยานของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ